HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

PM 2.5 มะเร็งปอด และการป้องกัน

มะเร็งปอดสมัยนี้ กลับมีก้อนไม่ชัดเจนในระยะแรก นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุของมะเร็งปอดนั้น สัมพันธ์กับปัญหามลพิษที่ขึ้นสูงมากหรือไม่ อย่างประเด็น PM2.5 หรือมลพิษที่มีขนาดเล็ก และเข้าไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมขนาดเล็กทั่วปอด แทนที่จะเป็นก้อนใหญ่ๆ จุดเดียวแบบแต่ก่อน

            สมัยก่อน เวลานึกถึงคนเป็นมะเร็งปอด เรามักจะต้องนึกถึงคนๆ นั้นว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัด เพราะควันบุหรี่ เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุเซลล์ปอด และการตรวจหามะเร็งปอดก็ทำได้ยังไม่ละเอียด มีเพียงข้อแนะนำให้ X-ray เป็นการตรวจร่างกายประจำ ซึ่งหากก้อนมะเร็งไปหลบอยู่ตรงแถวเงาของหัวใจ ก็อาจทำให้มองเห็นหรือวินิจฉัยได้เมื่อเป็นก้อนที่ใหญ่มากแล้ว

            แต่ในปัจจุบัน สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ในวงการแพทย์เริ่มมีการพูดคุยกันว่า คนที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด กลับเป็นกลุ่มคนอายุน้อย ไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญ หลายคนเป็นคนที่ดูแลสุขภาพเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นกลุ่ม Non-smoker

            ความกังวลเริ่มมากขึ้น เพราะแม้ว่าการตรวจสกรีนหามะเร็งจะทำได้ง่ายขึ้น และถูกลงด้วยการทำ CT Scan ก็ปรากฏว่า มะเร็งปอดสมัยนี้ กลับมีก้อนไม่ชัดเจนในระยะแรก นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุของมะเร็งปอดนั้น สัมพันธ์กับปัญหามลพิษที่ขึ้นสูงมากหรือไม่ อย่างประเด็น PM2.5 หรือมลพิษที่มีขนาดเล็ก และเข้าไปกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของหลอดลมขนาดเล็กทั่วปอด แทนที่จะเป็นก้อนใหญ่ๆ จุดเดียวแบบแต่ก่อน

            การที่ PM2.5 เป็นปัญหาทุกหน้าร้อนที่มีการเผาในที่โล่ง หรือหน้าหนาว ที่มีอากาศขมุกขมัว โรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่มีการควบคุมการปล่อยมลพิษ เทียบเท่ากับการที่คนทั้งเมืองได้สูบบุหรี่ฟรีวันละ 5 มวน สอดคล้องกับกราฟที่พบว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดพุ่งสูงขึ้นจนสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ การช่วยกันรณรงค์การลด PM2.5 ทั้งภาครัฐแหละเอกชน จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่หมออยากให้ผู้ใหญ่ช่วยกันจัดการอย่างจริงจังค่ะ

            แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับฝุ่นควันจะต้องเป็นมะเร็งปอดเสมอไป ในแง่ความแตกต่างทางพันธุกรรม คนที่มีพันธุกรรมเสี่ยง คือมีปัญหามะเร็งตั้งแต่อายุน้อยในครอบครัว อาจมีปัญหาที่มี Oncogene ที่เป็นปัจจัยทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งมากกว่าคนอื่นได้ การไปรับคำแนะนำ การซักประวัติตรวจดูว่ามีพันธุกรรมก่อมะเร็ง หรือยีนต้านมะเร็ง Tumor Suppressor Gene ที่ทำงานผิดปกติ และนำไปสู่ Gene Counseling เพื่อตรวจยีนอย่างเหมาะสม ก็เป็นเทรนด์หนึ่งของ Precision Medicine ที่สามารถทำได้ในสมัยนี้

            แต่ยีนก่อมะเร็ง อาจมีผลไม่เท่ากับการ ปรับชีวิต อย่างแรกคือการหลีกเลี่ยงฝุ่นควันในวันที่อากาศ PM2.5 สูง หรือเพิ่มพื้นทีสีเขียวฟอกอากาศรอบบ้าน รับประทานอาหารที่มีวิตามิน เบต้าแคโรทีน เช่น แครอต, มะละกอ ที่มีในอาหารผัก ผลไม่ สีเขียวจัด สีเหลือง สีแดง ไปจนถึง สารไลโคปีนในมะเขือเทศ หรือผักสีม่วง ที่มีแอนโทไซยานินสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ผักผลไม้เหล่านี้ ควรบริโภคให้ได้มากกว่าวันละ 400 กรัม

            ที่หลายคนกังวลว่า แล้วถ้าสูดเอา PM 2.5 เข้าไปแล้วล่ะ ทำอย่างไร คำตอบคือ อาจต้องมองหาสารอาหารที่มีสรรพคุณในการช่วย Detox ปอด ซึ่งสารกลุ่มนั้นมีในเครื่องเทศและสมุนไพร ชมิ้นชัน ที่มี Curcumin หรือเครื่องเทศฝรั่งอย่าง ออริกาโน Oregano ที่ปกติมักจะใส่แต่งหน้ามากับพิซซ่าเพราะมีสาร Carvacrol ช่วย Detox ปอด

            แต่ถ้ารู้สึกว่าออริกาโนกินยากไป ไม่ถูกปาก หมออ้อมขอแนะนำสูตรนี้เลยค่ะ ให้รับประทานบร็อกโคลีวันละ 200 กรัมขึ้นไปเพื่อให้ได้สาร Sulforaphane ที่ช่วยในการล้างพิษฝุ่น PM 2.5 ออกจากปอดคนเมืองของเราได้ดีขึ้น ปั่นกินเป็นน้ำคั้นผักก็ได้ หรือกินเป็นสลัดผักสดก็ได้ หรือถ้าทำได้กิน Whole Food Plant Base กันสักสามเดือนเพื่อปรับสมดุลลำไส้ไปพร้อมๆ กัน

            นอกจากอาหารแล้วการสูดดม ด้วยน้ำมัน Aroma Thyme หรือประคบปอดด้วยน้ำขิง ก็มีส่วนช่วยในการทำให้ระบบหายใจดีขึ้น ผ่อนคลาย และอย่าลืมเปิดเครื่องฟอกอากาศ ใส่แมสเมื่อมีฝุ่นหนา พอจะช่วยให้เราอยู่กับภาวะ PM2.5 ได้แบบมีทางออกกันบ้างค่ะ ขอให้ทุกคนปลอดภัยจากฝุ่นจิ๋วนะคะ

 


พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมออ้อม)

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพ Jin Wellness Center เป็นผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ป้องกันที่มีความชำนาญพิเศษด้าน Nutritional wellness & Integrative medicine กว่า 20ปี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งได้รับประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ

 • Advance training course in Acupuncture and Traditional Chinese Medicine, China, 2006 The American Board Certified in Nutrition Wellness, (CNW), USA, 2017

 • Training in Anthroposophy Training (IPMT program) from Switzerland, 2010-2019

 • Pressel Massage training, 2014

 • Regenerative medicine: new approach in hormonal treatment Symposium (WOSAAM), 2016

 • Advanced Nutrition for wellness, IFNW, Thailand, 2017

 • Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 2, USA

 • Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 1, USA, 2018

 • Thai Traditional Therapeutic Massage and Thai Traditional Pharmacy Accredited and Certified by The Union of Thai Traditional Medicine Society, Ministry of Public Health