INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : นลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (AIRA)

นลินี งามเศรษฐมาศ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (AIRA)

 

เปิดอาณาจักร ไอร่า กรุ๊ป

พร้อมเทกออฟขยายความร่วมมือพันธมิตรต่างประเทศ

ลงทุนธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์

 

หลังจากนี้จะเร่งขยายการเติบโตในแต่ละธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนและมูลค่าเพิ่มกลับมาให้ผู้ถือหุ้นสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ยังหาโอกาสสร้างการเติบโตของเงินลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต ด้วยการใช้กลยุทธ์ลงทุนสไตล์ Private Equity Fund ที่ผลตอบแทนของการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงการลงทุนในธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมหลากหลายมากขึ้นที่ไม่สามารถหาได้กับการลงทุนในตลาดหุ้น”

ปี 2014 เมื่อ บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเพียงบริษัทที่ประกอบการลงทุนในบริษัทอื่น ซึ่งตอนนั้น Market Cap หรือมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้น AIRA ยังไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านมา 8 ปี Market Cap ของหุ้น เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 14,000 ล้านบาท

แม้วิกฤติโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นช่วง 2 ปี จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจประสบปัญหาและความยากลำบาก แต่กลุ่มบริษัทไอร่ามีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล และบริษัทในเครือ ยังคงรักษาการเติบโตได้ดีตามแผนที่วางไว้

เห็นได้จากผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม 1,160 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปีก่อน มีกำไรสุทธิรวม 117 ล้านบาท ขณะที่งบเฉพาะกิจการของ ไอร่า แคปปิตอล มีรายได้ 138 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท และยังมีรายได้จากบริษัทร่วมที่ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ภายใต้งบการเงินรวมอีก 1,664 ล้านบาท

 

ถึงเป้าในบริบท Investment Company

ใช้สไตล์ Private Equity Fund สร้างผลตอบแทน

นลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ AIRA ให้สัมภาษณ์พิเศษ “การเงินธนาคาร” ถึงการทำธุรกิจและการเติบโตของกลุ่มบริษัทไอร่า จนปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ในร่มเงา 12 บริษัท เป็นบริษัทย่อย 10 บริษัท และบริษัทร่วม 2 บริษัท ซึ่งครอบคลุมธุรกิจการเงินและที่เกี่ยวข้องครบ ทั้งธุรกิจหลักทรัพย์ ลีสซิ่ง แฟคตอริ่ง ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือวาณิชธนกิจ การบริหารสินทรัพย์ สินเชื่อบุคคล ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมไปถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

นลินีกล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มบริษัทไอร่ามาถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในบริบทของการเป็น Investment Company ที่มุ่งมั่นจะเป็นกลุ่มบริษัทการเงินชั้นนำที่มีเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายครบถ้วน

หลังจากนี้ เราจะเร่งขยายการเติบโตในแต่ละธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนและมูลค่าเพิ่มกลับมาให้ผู้ถือหุ้นสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ยังหาโอกาสสร้างการเติบโตของเงินลงทุนให้มากขึ้นในอนาคต ด้วยการใช้กลยุทธ์ลงทุนสไตล์ Private Equity Fund ที่ผลตอบแทนของการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงการลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่ดีขึ้นต่อผู้ถือหุ้น”

สำหรับยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตของกลุ่มบริษัทไอร่าต่อไป นลินีกล่าวว่า จะใช้แผนการพัฒนาบริษัทในเครือผ่าน Digital Technology เพื่อขยายฐานลูกค้าและการให้บริการที่ครอบคลุมลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายและควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

รวมไปถึงขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอาคารสำนักงานให้เช่า และคลังสินค้าสมัยใหม่ที่มีระบบโลจิสติกส์รองรับ เพื่อที่จะสามารถนำอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าดังกล่าวจัดตั้งเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และนำทรัสต์นั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยมุ่งหวังผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายฐานทุนด้วยการนำบริษัทในกลุ่มทุกบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างผลตอบแทน และสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการในรูปเงินปันผล และกำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาด รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนธุรกิจและเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง


ดัน ไอร่า แอนด์ ไอฟุล เข้าตลาดหุ้น

ระดมทุนขยายกิจการ

แผนขยายฐานทุนด้วยการนำบริษัทในกลุ่มเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นแผนงานสำคัญและจะเห็นความสำเร็จเร็วๆ นี้ คือ บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.ไอร่า แคปปิตอล กับ บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการธุรกิจการเงินชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ที่เริ่มต้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 4,000 ล้านบาท

ช่วงที่ผู้ร่วมทุน 2 ฝ่ายตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจด้วยทุนเรียกชำระแล้ว 1,000 ล้านบาท ยอมรับว่ากลัว เพราะถือเป็นฐานทุนที่ใหญ่ แต่เท่าที่ศึกษาธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลย้อนหลังประมาณ 15 ปี ก็พบว่า ในช่วง ปีแรกๆ หลังเริ่มทำธุรกิจทุกบริษัทจะขาดทุน จากนั้นจะเริ่มมีกำไร และเข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ก็เช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล นลินีมองว่า ขณะนี้ บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ทั้งยังเชื่อว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเหนียวแน่นไม่ถอนการลงทุนอย่างแน่นอน โดย บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทร่วมของ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล ต่อไป

ขณะนี้ บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ได้มีการแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะสามารถยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) แบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งแรกต่อประชาชน (IPO) แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในปี 2565 และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เกินต้นปีหน้า

ปัจจุบัน บมจ.ไอร่า แอนด์ ไอฟุล เป็นผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด “เอมันนี่ (A money)” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “A money บัดดี้เรื่องเงิน” มีสาขาและบูธให้บริการทั้งหมด 46 แห่ง ฐานลูกค้าประมาณ 400,000 ราย และพอร์ตสินเชื่อกว่า 7,000 ล้านบาท

 

จับมือ NEC ขยายพอร์ตสินเชื่อ

ก่อนดัน ไอร่า ลีสซิ่งเข้าตลาดหุ้น

สำหรับกิจการในกลุ่มไอร่าอีกบริษัทที่นลินีบอกว่า มีเป้าหมายนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินงานถึงจุดคุ้มทุนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการร่วมมือกับ NEC Capital Solutions Limited บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ร่วมถือหุ้นในสัดส่วน 20% เพื่อเพิ่มพอร์ตสินเชื่อด้วยการนำลูกค้าของ NEC เข้ามาใช้บริการ

“NEC เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก และมีลูกค้าในไทยและประเทศอื่นๆ จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้พอร์ตสินเชื่อเติบโตหลายเท่า คาดว่าปลายปีนี้บริษัทจะมีกำไร และปี 2566 กำไรจะเพิ่มขึ้นอีกมาก”

บมจ.ไอร่า ลีสซิ่ง มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อเครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานพาหนะทั้งเก่าและใหม่แบบสัญญาเช่าการเงิน สัญญาเช่าซื้อ และสัญญาเช่าดำเนินงาน ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้บริการทางการเงินครอบคลุมในทุกภาคส่วนที่สำคัญของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมขนส่ง อุตสาหกรรมการบริการ ฯลฯ

 

รุกอสังหาฯ ซื้ออาคารสำนักงานเพิ่ม

ตั้งกอง REIT 9,000-10,000 ล้าน

อาณาจักรไอร่า ไม่ได้มีเพียงแค่ธุรกิจการเงิน แต่ยังมีธุรกิจที่สำคัญคือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินงานภายใต้ บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ AIP ซึ่งร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติที่มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่าง Kenedix Asia Private Ltd. บริษัทบริหารสินทรัพย์และจัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และ Eugene Investment & Securities Co.,Ltd. กลุ่มบริษัทการเงินและวัสดุก่อสร้างชั้นนำจากประเทศเกาหลี ซึ่ง บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ หรือ AIP จะเป็นเรือธงในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ก่อนหน้านี้ AIP ได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตร คือ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ และ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ตั้ง บริษัท แอสไพเรชั่น วัน จำกัด (ASP1) ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโครงการอาคารสำนักงานให้เช่าเกรด A โครงการแรกคือ อาคาร Spring Tower บนที่ดินบริเวณสี่แยกราชเทวีของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน 30 ปี และมีสิทธิที่จะต่อสัญญาไปอีก 30 ปี อาคารนี้เปิดให้บริการตั้งแต่ปลายปี 2563 คาดว่าสิ้นปี 2565 นี้ อัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ 80-90%

ตอนนี้ทิศทางของธุรกิจมีแนวโน้มที่ดี ซึ่งผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทางลูกค้าก็มีกระบวนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเจ้าของโครงการเพื่อความมั่นใจ ซึ่งเราก็สามารถสอบผ่านได้ดีมาโดยตลอด”

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขยายพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง นลินีบอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาซื้ออาคารสำนักงานโครงการที่สอง คาดว่าเจรจาแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ และมีเป้าหมายซื้ออาคารสำนักงานที่มีผู้เช่าแล้วให้ครบ 3 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท แอสไพเรชั่น ทู (ASP 2) หลังจากนั้นจะดำเนินการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) โดยตั้งเป้าขนาดกองทุน 9,000-10,000 ล้านบาท ทั้งยังได้หารือกับพันธมิตร คือ Kenedix Asia Private Limited เพื่อร่วมกันทำธุรกิจ Token RIET ซึ่ง Kenedix มีความเชี่ยวชาญและทำแล้วที่ประเทศญี่ปุ่น

ก่อนหน้านี้ ยอมรับว่ากังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา มีสัญญาณที่ดีหลังไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เกือบหมดเพื่อเปิดประเทศ ทาง Kenedix เดินทางมาเพื่อสร้างความมั่นใจ และหารือเรื่องการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อจัดตั้งกอง REIT และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นแล้ว ส่งผลให้บริษัทมีสภาพคล่องหมุนเวียนทำให้เกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง”

นลินี ยังให้ข้อมูลอีกว่า Kenedix Asia Private Limited เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์และจัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันบริหารอาคารสำนักงานกว่า 500 อาคาร และเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้ซื้ออาคารสำนักงานในสิงคโปร์อีกด้วย

 

ตั้งเป้า ธุรกิจกองทุนรวม AUM 8,000-10,000 ล้านบาท

ภายใต้ร่ม ไอร่า กรุ๊ป ยังมีธุรกิจบริหารสินทรัพย์จัดการลงทุน คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอร่า จำกัด ซึ่งจะเป็นธุรกิจไฮไลต์อีกธุรกิจหนึ่ง ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บมจ.ไอร่า แคปปิตอล ได้เซ็นสัญญากับพันธมิตรใหม่ คือ บริษัท ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ แบงก์ (ไทย) (SMTBT) ซึ่งเป็นธนาคารในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น อย่าง ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ แบงก์ (SMTB) เข้ามาร่วมทุนถือหุ้น 10%

นลินีเชื่อว่า การเข้าร่วมลงทุนของ SMTBT ครั้งนี้ จะส่งผลดีและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัททั้ง 2 บริษัท เนื่องจากเป็นการช่วยกันเสริมศักยภาพความแข็งแกร่ง โดยการเพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินและการลงทุน สู่การขยายฐานกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ผ่านการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายที่ครอบคลุมเทียบชั้นมาตรฐานโลก โดย บลจ.ไอร่า ตั้งเป้าสินทรัพย์ภายใต้กาบริหาร (AUM) ประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมี AUM แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท

 

จุดแข็งของไอร่ากับการมีพันธมิตรแข็งแกร่ง

การที่กลุ่มไอร่ามีพันธมิตรต่างประเทศที่แข็งแกร่งและเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ไม่เกินอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น พันธมิตรจากเกาหลี Eugene Investment & Securities Co.,Ltd พันธมิตรจากญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น Kenedix Asia Private Limited บริษัท ไอฟุล คอร์ปอเรชั่น, บริษัท NEC Capital Solutions Limited

ล่าสุด ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ แบงก์ (SMTB) รวมไปถึง Travelex Limited พันธมิตรจากประเทศอังกฤษ ที่ร่วมกันทำธุรกิจบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ภายใต้ บริษัท ทราเวลเล็กซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (TVXT) จะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ ในการเพิ่มศักยภาพและโอกาส การมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง การยกระดับการให้บริการเทียบชั้นมาตรฐานโลก การถ่ายทอดเทคโนโลยี่นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงภาพลักษณ์ หรือ แบรนด์ ซึ่งจะเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากขึ้น

ในไทยอาจจะรู้จักกลุ่มไอร่าน้อย แต่เชื่อว่าในญี่ปุ่น เกาหลี และอังกฤษ จะรู้จักและเชื่อมั่นเราเป็นอย่างดี หรือประเทศอื่นๆ ก็จะเริ่มรู้จักและคุ้นเคยแบรนด์ไอร่า ผ่านแบรนด์ Travelex Limited ที่ทำธุรกิจครอบคลุมใน 45 ประเทศทั่วโลก และส่วนใหญ่อยู่ในสนามบิน ทำให้เป็นที่คุ้นตานักธุรกิจอย่างมาก”

นลินี ได้กล่าวถึงเคล็ดลับและเป็นจุดแข็งของกลุ่มไอร่าที่ดึงดูดพันธมิตรมาร่วมลงทุน รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวว่า จะต้องรักษาคำพูด มีความรับผิดชอบ มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน นอกจากนี้ ต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ ไม่ว่าใครจะอยู่ในสถานะไหน

พันธมิตรทางธุรกิจก็เหมือนคนที่แต่งงานกัน ถ้าจะมีปัญหาล่วงหน้าก็ต้องพูดคุยปรึกษาหารือกับเขาและต้องพร้อมเสนอแนวทางแก้ไข ส่วนการเลือกพันธมิตรที่จะทำธุรกิจด้วยนั้นจะต้องเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านการดำเนินงานมาอย่างยาวนาน มีฐานะทางการเงินและการตลาดที่ดีในต่างประเทศ รวมถึงมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน”


ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ฉบับที่ 482 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi     

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt