CEO Talk : สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดร.สุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ดร.สุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ
บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
ผสานพลังจัดทัพรับยุคดิจิทัล
สร้าง S-Curve ใหม่ต่อยอดธุรกิจ
“การปรับโครงสร้างใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดทัพของเมืองไทยประกันชีวิตใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกประกันชีวิตแนวใหม่ และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ภายใต้ความร่วมมือของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการและทีมงานทุกคน”
สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL
“สิ่งที่เมืองไทยประกันชีวิตจะดำเนินการคือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และทำให้คนสามารถย้ายไปทำงานที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้win-win ทั้งกับพนักงาน และ win-win กับองค์กรด้วย”
ดร.สุธี โมกขะเวส กรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL
กว่า 17 ปี ที่สาระ ล่ำซำรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการบมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
หรือ MTL ที่แม้จะพบกับอุปสรรคมาตลอดทาง
แต่ก็ยังสามารถนำพาองค์กรให้ผ่านวิกฤติมาได้เสมอ
ด้วยหัวคิดทันสมัยและกล้าตัดสินใจปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
จนสามารถก้าวสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิต Top 3 ในปัจจุบัน
หลังจากบ่มเพาะต้นกล้าพันธุ์ใหม่เพื่อเข้ามาสานต่องานจนสุกงอมแล้ว
ในที่สุด ก็ถึงเวลาของการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
โดยการแต่งตั้งให้ ดร.สุธี โมกขะเวส ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ
เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดประกันชีวิตในโลกใหม่ ขณะที่สาระ
ล่ำซำ นั่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมผสานความร่วมมือเพื่อสร้าง S-Curve ใหม่ในการต่อยอดธุรกิจประกันชีวิตให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
ตั้งลูกหม้อรับมือประกันยุคใหม่
สาระกล่าวว่า
หลังจากที่อยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาถึง17 ปี
ทำให้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกประกันชีวิตในการก้าวไปสู่โลกยุคใหม่อย่างรวดเร็วจากเดิมที่โลกของประกันชีวิตคือ
Insight-Out มาโดยตลอด
แต่ในวันนี้โลกของประกันชีวิตได้เปลี่ยนไปสู่Outside-In แล้วอีกทั้งการแข่งขันของธุรกิจประกันชีวิตได้เปลี่ยนไปสู่การแข่งขันกับหลากหลายธุรกิจ
หลากหลายมิติทำให้ต่อไปจะให้ความสำคัญแค่เรื่องของการชิงส่วนแบ่งการตลาดระหว่างบริษัทประกันด้วยกันเพียงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19
ที่ส่งผลกระทบต่อทุกธุรกิจ แต่สำหรับเมืองไทยประกันชีวิตแล้ว
ไม่ได้มองว่าโควิดเป็นวิกฤติ แต่กลับเป็น โอกาส ในการที่จะพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่
เพื่อสร้างS-Curve ใหม่ให้มาต่อยอดให้กับประกันชีวิตรวมถึงเกิดโอกาสอีกมากมายที่ให้ประกันชีวิตสามารถเข้าไปแข่งขัน
หากสามารถคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีซึ่งหากยังคงใช้รูปแบบการบริหารที่ต้องอาศัยการตัดสินใจของ
กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเพียงคนเดียวคงจะไม่สามารถที่นำพาธุรกิจให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ดังนั้นจึงได้เปิดทางให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยกันบริหารจัดการและคว้าโอกาสต่างๆให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้นำทีมในการคว้าโอกาสในโลกยุคใหม่นี้
ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมและรู้จักเมืองไทยประกันชีวิตเป็นอย่างดี
และสามารถร่วมมือกับผู้บริหารของเมืองไทยประกันชีวิตได้
จากคุณสมบัติเหล่านี้
ทำให้ตัดสินใจเลือกดร.สุธี โมกขะเวส
ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโดยดูแลรับผิดชอบงานด้าน Operation ซึ่งเป็นสายงานที่มีความสำคัญมากในยุดดิจิทัลและอยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคขณะที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจะรับผิดชอบในการกำหนดStrategyโดยในการทำงานของกรรมการผู้จัดการจะขึ้นตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารทั้งหมด
“ดังนั้นการปรับโครงสร้างใหม่ในครั้งนี้
ถือเป็นการจัดทัพของเมืองไทยประกันชีวิตใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกประกันชีวิตแนวใหม่
และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต
ภายใต้ความร่วมมือของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการและทีมงานทุกคน”
เน้นสร้าง New S-Curve
สาระกล่าวว่า
ภารกิจต่อจากนี้ไปตนเองจะดูแลเรื่องของการวางยุทธศาสตร์ รวมไปถึงการสร้าง S-Curve และขยายงานด้านคอมเมอร์เชียลโดยในการสร้าง
S-Curve ใหม่นี้จะมีทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกัน
และนอกธุรกิจประกันอย่างการตั้งฟูเชีย เวนเจอร์ แคปิทัล (Fuchsia) ศูนย์เรียนรู้และสร้างโอกาสทางธุรกิจ
อาทิ Health Tech และการจัดตั้งบริษัท
ไอเจ็น จำกัด (AI Gen) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเมืองไทยประกันชีวิต
เพื่อพัฒนา บริการผ่าน AI
รวมไปถึงการพัฒนาแบบประกันและบริการสำหรับสังคมผู้สูงอายุ
รวมไปถึงการนำดาต้ามาวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุในอนาคตด้วย
ส่วนด้านคอมเมอร์เชี่ยลนั้น
ในอนาคตจะมีการนำเรื่องของดาต้าเข้ามาช่วยเพื่อให้คำแนะนำแบบ Personalization กับลูกค้าแต่ละรายได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเนื่องจากแนวโน้มของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในโลกของการประกันชีวิตยุคใหม่
จะไม่ใช่การออกแบบพัฒนาแบบประกันและนำเสนอการขายประกันจะแบบรับความเสี่ยงร่วมกันอีกต่อไป
แต่จะเป็นการแบบประกันที่มีความเหมาะสมตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
“การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด
เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นภาพและร่วมงานกันมาตลอดอยู่แล้วโดยมองว่าจะเป็นทัพเมืองไทยประกันชีวิตที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมซึ่งแข็งแรงอยู่แล้วส่วนความท้าทาย
เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในทุกองค์กร แต่เรามองเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่า”
สาระกล่าวว่า การที่ดร.สุธี
เป็นลูกหม้อของเมืองไทยประกันชีวิต มาตั้งแต่เริ่มทำงาน
และยังร่วมเสนอแนวคิดและร่วมกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ร่วมกันมาโดยตลอด
ที่สำคัญเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจในเรื่องของประกันชีวิตเป็นอย่างดี
รวมถึงอยู่ในช่วง Gen X ช่วงอายุที่เหมาะสมที่สามารถสื่อสารกับพนักงานรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม
Gen Xซึ่งปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมากได้ง่ายและเข้าใจถึงความต้องการสามารถนำจุดเด่นของความแตกต่างของแต่ละแนวคิดเข้ามาปรับใช้เพื่อเติมช่องโหว่ของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
รวมถึงมีการสั่งสมประสบการณ์ด้านประกันชีวิตมายาวนานพอสมควร
และพร้อมที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
“สำหรับตัวผมไม่ได้ไปไหน
ผมยังอยู่ในเมืองไทยประกันชีวิตเพราะนอกจากเมืองไทยประกันชีวิตแล้ว เรายังมีบริษัทแม่อย่างเมืองไทยกรุ๊ปที่ทำให้สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อย่างหลากหลาย
โดยผมและดร.สุธี จะมีการประสานความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์
การวางกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ผมและดร.สุธี
ทำงานร่วมกันในลักษณะนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว”
เปิด 4 ภารกิจหลัก
ดร.สุธีกล่าวว่า
การได้รับมอบหมายให้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในครั้งนี้รู้สึกเป็นเกียรติ
และดีใจที่ได้รับความเชื่อมั่นจากคุณสาระที่มองว่าตนเองจะสามารถเข้ามารับภารกิจนี้ได้โดยหลังจากนี้ในฐานะของกรรมการผู้จัดการบทบาทหน้าที่อาจจะเปลี่ยนไปบ้างนอกจากเดิมที่จะดูเรื่องของการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ
การวางยุทธศาสตร์ขององค์กร
และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆแล้วจากนี้ไปจะครอบคลุมไปถึงเรื่องของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
การสร้างฐานข้อมูลโดยจะเน้นการทำงานในเชิงลึกเพื่อแสดงผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อต่อยอดธุรกิจกับ
4 ภารกิจหลัก คือ
ภารกิจที่ 1
การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้าและเทคโนโลยีเพื่อขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจประกันชีวิตเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป
ต้องการบริการที่ดีสะดวกรวดเร็ว โปร่งใส และต้องการผลิตภัณฑ์ที่เชื่อว่าเหมาะกับตัวเอง
รวมถึงการเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่จากธุรกิจอื่นที่สามารถเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น
ส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันของบริษัทประกันในยุคปัจจุบันและในอนาคตต้องเปลี่ยนไป
โดยต้องแข่งขันกับธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ประกันชีวิตด้วย
ภารกิจที่ 2
การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแม้เมืองไทยประกันชีวิตจะเป็นบริษัทประกันชีวิตที่ดำเนินธุรกิจมาถึง
70ปีและมีลูกค้าที่ซื้อกรมธรรม์ของบริษัทและอยู่กับบริษัทมากว่า 60
ปีแล้วซึ่งภาระผูกพันและพันธะสัญญายังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความคาดหวังของลูกค้าที่จะได้รับบริการที่ดีและแตกต่างจากในอดีตดังนั้น
บริษัทจึงต้องสร้าง New
S-curve ขึ้นมาใหม่
เนื่องจากในปัจจุบันแต่ละธุรกิจสามารถที่จะขยายฐานลูกค้าออกไปได้ในทุกกลุ่มโดยไม่มีข้อจำกัดดังนั้น
ในแง่ของบริษัทจะใช้ฐานลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่อย่างไรเพื่อสร้าง New S-curve ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภารกิจที่ 3 ผลักดันให้เมืองไทยประกันชีวิตเป็นLearning Organizationเพราะโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไป
การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ
เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับธุรกิจประกันชีวิต
เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลจึงต้องมีการนำดาต้านำมาใช้ในการวิเคราะห์ความต้องการเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะกับลูกค้าแต่ละรายแบบเทเลอร์เมด
โดยเป็นก้าวต่อไปที่บริษัทได้ตั้งความหวังไว้
ภารกิจที่ 4 การดึงคนกลุ่มคนที่มีความสามารถพิเศษ
เข้ามาร่วมงานกับธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งภารกิจนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างชอบและน่าสนใจ
จากเดิมที่บริษัทจะตีกรอบคุณสมบัติของบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมงานไว้อย่างชัดเจนว่าต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
แต่ในยุคปัจจุบันบุคลากรรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องทำงานหรือเรียนเกี่ยวกับการประกันชีวิตก็สามารถเข้ามาร่วมงานกับบริษัทได้ขอเพียงแค่เป็นคนที่เปิดกว้างและสามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างของแต่ละสายงานได้ทั้งนี้
เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเมืองไทยประกันชีวิตต่อไป
ดร.สุธีกล่าวว่า ภารกิจทั้ง 4
ด้านนี้เป็นสิ่งที่มองเห็นว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตและได้เตรียมความพร้อมมาโดยตลอด
ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยดาต้าและเทคโนโลยี
เพื่อขยายไปยังธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจประกันชีวิตขณะเดียวกัน
ยังจะนำดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนาแบบประกันสำหรับคนที่เป็นโรคมาก่อนสามารถทำประกันได้ซึ่งในอดีตไม่สามารถทำได้
แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้นทำให้สามารถที่จะพัฒนาแบบประกันให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มได้มากขึ้น
“ความท้าทายภารกิจ
คือ ความเข้าใจเทคโนโลยีว่าสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับธุรกิจได้บ้าง
ต้องมีการทำในเรื่องของ Communication
ให้ทุกคนในองค์กรเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ”
เผยยุทธศาสตร์ธุรกิจ
ดร.สุธี กล่าวว่า สำหรับเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในอนาคต
จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นภารกิจที่คุณสาระได้มอบหมายและต้องการทำให้สำเร็จ ทั้งในส่วนของการสร้าง Data Digital การสร้างธุรกิจที่จะเชื่อมโยงไปยังธุรกิจมากกว่าการประกันชีวิตซึ่งถ้าเราสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้กับธุรกิจก็จะเกิดผลดีต่อธุรกิจในอนาคตขณะเดียวกัน
ยังได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องประสบคือแนวทางในการที่จะทำให้ประชาชนทุกกลุ่มรายได้
ไม่ว่าจะมีรายได้สูง ปานกลาง ไปจนถึงผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงประกันได้ทุกคน
โดยจากการศึกษาพบว่าการที่จะทำให้กลุ่มรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการประกันได้นั้น
บริษัทประกันชีวิต
ต้องสามารถลดขนาดของกรมธรรม์ให้เล็กลงเพื่อการจ่ายเบี้ยที่ถูกลงและได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม
ซึ่งการที่จะลดต้นทุนของกรมธรรม์ลงได้นั้น จำเป็นต้องมีนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง
โดยไม่มีการลดคนเพราะคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร
“สิ่งที่เมืองไทยประกันชีวิตจะดำเนินการคือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น
และทำให้คนสามารถย้ายไปทำงานที่มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้win-win ทั้งกับพนักงาน
และ win-win กับองค์กรด้วย”
ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมที่จะขยายความความคุ้มครองไปยังกลุ่มคนที่เป็นโรคมาก่อนทำประกัน
ซึ่งในอดีตการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ อาจจะเป็นเรื่องยาก
แต่จากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในปัจจบันทำให้บริษัทสามารถที่จะบริหารความเสี่ยงและรับประกันคนกลุ่มนี้ได้
รวมถึงพัฒนาแบบประกันที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยให้ประกันชีวิตสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มอย่างแท้จริงรวมถึงยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากที่สุด
เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากนี้
บริษัทยังมองเห็นความสำคัญของลูกค้าในกลุ่มGen Y และ Gen Z ด้วย
แม้ว่าขณะนี้ลูกค้ากลุ่มนี้จะยังไม่มีความสนใจเรื่องของประกัน
แต่บริษัทก็จะพยายามหาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้
เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
“สิ่งที่จะช่วยได้คือ ตัว Insight ของเมืองไทยประกันชีวิต โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการประกันชีวิตได้สะดวก รวดเร็ว การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้เรียนรู้ระบบการทำงานที่หลากหลายเพื่อนำไปต่อยอดการทำงานในปัจจุบันได้ รวมไปถึงการสนับสนุนจากฝ่ายกำกับดูแลอย่าง สำนักงานคปภ. ที่ออกนโยบายต่างๆ ที่มีความยืดหยุ่น จนทำให้บริษัทสามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้หลากหลายได้”
ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2564 ฉบับที่ 474
ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi