INTERVIEW • PEOPLE

People : ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

รองผู้จัดการใหญ่

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์


To Be A Better EIC

งานวิจัยฝ่าระเบียบโลกใหม่

 

“พันธกิจสำคัญของการเข้ามารับตำแหน่งใน EIC อันดับแรกคือ เพื่อใช้งานวิจัยเป็นข้อมูลสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเดินสู่ธนาคารที่ดียิ่งขึ้น หรือ To Be A Better Bank ได้อย่างแข็งแกร่ง และช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธนาคารไทยพาณิชย์”

หลังจากมีการปรับโครงสร้างองค์กรไปสู่ยานแม่ของกลุ่มธุรกิจการเงิน เอสซีบี เอกซ์ ก็ได้มีการสลับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง ส่งผลให้มีตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ว่างลงชั่วคราว จนเป็นที่จับตามองว่าใครจะเป็นผู้เข้ามารับไม้ต่อทำหน้าที่ให้หน่วยงานวิจัยเชิงลึกแห่งนี้ เพราะ EIC นับเป็นหน่วยงานวิจัยเอกชนที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับธุรกิจในกลุ่มไทยพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป

ล่าสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประกาศแต่งตั้ง ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่รู้จักกันดี เพราะงานวิจัยหลายงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม ได้มาดำรงตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2565

ดร.สมประวิณ จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาโทจาก University of Warwick สหราชอาณาจักร และระดับปริญญาเอกจาก University of Maryland at College Park สหรัฐอเมริกา

เส้นทางนักเศรษฐศาสตร์เริ่มในรั้วมหาวิทยาลัยจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2547 ที่คณบดีในขณะนั้น (รองศาสตราจารย์ ดร.โสตถิธร มัลลิกะมาส) ถามว่า อีก 10 ปีอยากให้คนรู้จัก “สมประวิณ” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ด้านไหน ซึ่ง ดร.สมประวิณ ตอบได้ในทันทีว่า อยากให้คนรู้จักในฐานะ “นักเศรษฐศาสตร์มหภาค” แม้ดูจะเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่อยากมีส่วนช่วยที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น

ดังนั้น ในช่วงของการเป็นอาจารย์ตลอด 13 ปีที่คณะ ดร.สมประวิณ จึงเลือกสอนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์มหภาค และทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อทำให้ตัวเองได้มีโอกาสเข้าใจกรอบแนวความคิดทางทฤษฎีอย่างท่องแท้พร้อมไปกับสภาพการที่เป็นจริงของบริบทเศรษฐกิจไทย

ก่อนร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ดร.สมประวิณ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ (Chief Economist) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีและรองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประสบการณ์ทำงานวิจัยให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น รวมทั้งเป็นผู้บรรยายให้ความรู้ในงานสัมมนาแก่สาธารณชนและองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งการตัดสินใจร่วมงานกับภาคธนาคาร ทำให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างภาคการเงินและเศรษฐศาสตร์มหภาคได้มากขึ้น รวมทั้งได้มีโอกาสพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อถ่ายทอดปัญหาที่พบโดยตรง ซึ่งการร่วมงานกับองค์กรภาคการเงินเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกว่าเดิมและได้เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ

“ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสข้ามรั้วมหาวิทยาลัยออกมาลงสนามจริง ในภาคเอกชน การทำงานในภาคการเงินการธนาคาร ทำให้ผมเรียนความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง และที่สำคัญ ทำให้รู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงนั้นแตกต่างจากโลกในตำราเยอะมาก ในตำราจะยึดทฤษฎีที่พัฒนามาด้วยเหตุผลบางอย่างเป็นตัวตั้ง เวลาเรามองออกมานอกรั้วก็มักจะตั้งคำถามว่า ทำไมคนนอกรั้วไม่มีเหตุผล แต่การทำงานในสนามจริง ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผล เพียงแต่จุดตั้งต้นของคำตอบอาจจะแตกต่างกันไปตามบริบทเท่านั้น”

 

งานวิจัยที่ต้องช่วย

องค์กรตัดสินใจได้

ปัจจุบัน ดร.สมประวิณ รับหน้าที่ดูแลกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ รับบทบาทสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ลึกและครบถ้วน รวมถึงการเชื่อมโยงตรรกะและการวิเคราะห์เพื่อทำให้เห็นว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรภายใต้เงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การสร้างงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคเชิงลึกและงานวิเคราะห์ผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมนอกจากเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในกลุ่มธนาคาร แล้วยังมีประโยชน์ต่อลูกค้า สังคม และประเทศชาติโดยรวมด้วย

“พันธกิจสำคัญของการเข้ามารับตำแหน่งใน EIC อันดับแรกคือ เพื่อใช้งานวิจัยเป็นข้อมูลสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเดินสู่ธนาคารที่ดียิ่งขึ้น หรือ To Be A Better Bank ได้อย่างแข็งแกร่ง และช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธนาคารไทยพาณิชย์”

ดร.สมประวิณเล่าอีกว่า โลกกำลังเผชิญอยู่ใน Disruptive World และภาคการเงินก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่กำลังเผชิญอยู่กับ Disruption ครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งด้วย การเข้าถึงลูกค้า ลักษณะผลิตภัณฑ์ และ Business Model ของผู้ให้บริการทางการเงินจะเปลี่ยนไปอย่างมากในระยะต่อไป ไทยพาณิชย์เป็นองค์กรที่มองไกล มีแรงขับเคลื่อนสูงและมีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกยุคใหม่ของภาคการเงิน จึงอยากมีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งคิดว่าการมีความรู้ที่ครบถ้วน และการวางแผนธุรกิจที่ดีสำหรับช่วงการเปลี่ยนผ่านแบบนี้ จะสามารถช่วยทั้งองค์กรและสังคมโดยรวมได้มาก

ซึ่งอนาคตระบบการเงินจะเปลี่ยนไปอีกมาก มีหน้าต่างของโอกาส (Window of Opportunity) ที่จะทำให้เกิดระบบการเงินอย่างทั่วถึงในระบบเศรษฐกิจไทยได้ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมกันของโอกาสของคนไทยได้มาก การที่อยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ สิ่งที่ทำมักจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น หากสามารถทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น สุดท้ายก็จะวนกลับมาที่ตัวเอง

ขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 2 ประการด้วยกัน โดยประการแรก ทั้งวิกฤติโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กำลังเผชิญกับโลกที่ มีความไม่แน่นอนสูง และประการที่สอง กระแส Disruption ครั้งใหญ่ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นได้ก่อให้เกิดระเบียบโลกใหม่ที่ส่งผลต่อทั้งวิถีทางเศรษฐกิจและสังคม

“ความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นความท้าทายของ EIC แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นเป็น ความท้าทายร่วม ที่คนในประเทศเราทุกคนเผชิญอยู่ด้วยกัน ผมถือว่า ผมได้รับโอกาสนั้นจาก SCB ให้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้เราสามารถก้าวผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปด้วยกัน”

ดร.สมประวิณเล่าอีกว่า ทั้งความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างดังกล่าวจะนำมาซึ่งความไม่รู้ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นและไม่รู้ว่าเราควรจะทำตัวอย่างไร ดังนั้น บทบาทสำคัญของ EIC คือการสร้างงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ ด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารที่ลึกและครบถ้วน รวมถึงการเชื่อมโยงตรรกะและการวิเคราะห์เพื่อทำให้เห็นว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรภายใต้เงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความรู้ให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ ลูกค้าและสังคมโดยรวม สนับสนุนข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้บริหารเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างผลลัพธ์อย่างยั่งยืนให้แก่ระบบนิเวศทางธุรกิจและทางสังคมต่อไป

เมื่อโลกเปลี่ยน องค์กรต้องเปลี่ยนตามโลก EIC อยากเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจขององค์กร ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์ให้งานวิจัยเข้าไปอยู่ในกระบวนการตัดสินใจเพื่อให้งานวิจัยนำไปใช้ได้จริงๆ เป้าหมายของ EIC คือการเป็น To Be A Better EIC ที่จะช่วยเสริมยุทธศาสตร์ To Be A Better Bank ของกลุ่มไทยพาณิชย์

“การเป็น To Be A Better Bank คือการแข่งกับตัวเอง ดังนั้น โจทย์สำคัญที่สุดวันนี้ก็คือจะสร้าง EIC ของเราในฐานะหน่วยงานวิจัยให้ดีขึ้นได้อย่างไร คำว่าดีขึ้น หมายถึงการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความรู้ให้กับกลุ่มไทยพาณิชย์ ลูกค้าและสังคมโดยรวม สนับสนุนข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้บริหารเพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ”

 

สานความฝันส่วนตัว

ช่วยคนไทยมีรายได้สูง

ดร.สมประวิณเล่าอีกว่า การเข้ามาร่วมงานกับภาคธนาคารนั้น ส่วนหนึ่งเพราะสนใจเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion ) โดยรู้ถึงปัญหาว่ามีคนเก่งจำนวนมากที่ขาดเงินทุน บางครั้งคนเก่งต้องยอมเลือกสิ่งที่ดีระยะสั้นแต่ไม่ดีระยะยาวเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากและเชื่อว่าภาคการเงินจะสามารถเข้าไปช่วยได้เพื่อให้คนเก่งๆ เหล่านี้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้เขาเลือกสิ่งที่ดีในระยะยาวได้

ซึ่งหลังจากที่พอเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่งพบว่า ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้มีแค่เพียงความเหลือมล้ำ แต่กลับมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันของโอกาสที่ในระบบเศรษฐกิจไทยมีด้วยกัน 3 มิติ คือ 1.ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงทรัพยากร 2.ความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากรในการพัฒนาตนเองและสร้างการเติบโต และ 3.ความไม่เท่าเทียมกันของการสร้างภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าความเหลื่อมล้ำอาจเป็นเงื่อนไขตั้งต้นโดยธรรมชาติได้ แต่โอกาสที่เท่ากันช่วยให้ปัญหาลดลงได้ในระยะยาว และนั่นก็เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้สนใจเข้ามาร่วมงานกับภาคการธนาคาร โดยมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้กลไกการทำงานของระบบการเงินการธนาคาร เพื่อนำไปสู่องค์ความรู้ที่จะช่วยให้เกิด Financial Inclusion และช่วยเพิ่มโอกาสของคนที่มีศักยภาพในการเข้าถึงเงินทุน เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงทรัพยากร การใช้ทรัพยากร และการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ภาคการเงินช่วยคนได้มาก ส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้ามาร่วมงานกับภาคการเงิน เพราะมีความฝันคือ อยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เป็นประเทศรายได้สูงในอนาคต ซึ่งจะใช้ความรู้ทำให้เกิดขึ้นให้ได้และต้องทำงานให้หนักขึ้น อาจจะทำคนเดียวไม่ได้แต่ก็อยากจะมีส่วนจุดประกายให้สังคมช่วยกันทำ

 “ในฐานะที่ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมอยากมีส่วนช่วยผลักดันให้ภาคการเงินสามารถสร้างโอกาสให้กับคนไทยได้มากขึ้น และทำให้ประเทศเราหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในที่สุด”


ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ฉบับที่ 482 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi     

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt