INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

สยาม ประสิทธิศิริกุล

ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจ

ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)


ผสานไอที-ดิจิทัล ยกระดับบริการลูกค้า

ลุย 3 ภารกิจมุ่งเทคโนโลยีอนาคต


“หลักการของเราคือทั้งไอทีและดิจิทัล จะมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลักดังนั้น ทั้ง 2 ส่วน จึงต้องเข้ามาอยู่ใกล้ลูกค้าให้มากที่สุดเพื่อที่จะเข้าใจและตอบความต้องการลูกค้าให้ได้ดีที่สุดนี่คือสิ่งที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด”

“ไอทีเปรียบเสมือน Utility ที่สำคัญของธุรกิจ การมีพันธมิตรที่ดีอย่าง HPE ช่วยให้เรามีความมั่นใจในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ลูกค้าได้ ซึ่งคอนเซ็ปต์ของเราคือ ใครเก่งอะไรให้คนนั้นทำ เพื่อให้เราสามารถเน้น สิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ได้เต็มที่ เช่น การให้บริการลูกค้า  และการหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ”

ปี2564 ถือเป็นปีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจธนาคารทั่วโลก จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ความคาดหวังที่สูงขึ้นต่อบริการดิจิทัลของธนาคาร ปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มในระดับ 100% ตลอดจนแนวโน้มโลกการเงินใหม่ Finance 3.0สิ่งเหล่านี้ทำให้หลายธนาคารต้องปรับตัวเร่งด่วน โดยเฉพาะการให้บริการในช่องทางดิจิทัลที่จะต้องตอบความต้องการลูกค้าได้ตรงจุด ระบบไอทีหลังบ้านต้องมีความเสถียรมากพอที่จะรองรับปริมาณธุรกรรมที่เติบโตขึ้นมหาศาล และทั้ง 2 อย่างนี้ต้องทำไปพร้อมกับการศึกษาและลงทุนในเทคโนโลยีอนาคต

การเงินธนาคาร สัมภาษณ์พิเศษ สยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานกลุ่มสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ถึงภาพของอุตสาหกรรมธนาคารที่เปลี่ยนแปลงไป การเดินหน้า 3 ภารกิจหลักมุ่งสนับสนุนธุรกิจธนาคารในปี 2565 ความร่วมมือกับ HPE เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที บริการใหม่ภายใต้ Smart Financial Infrastructure for Business และการเตรียมพร้อมต่อการมาของ CBDC ในไตรมาส 2

 

ไทยมีธุรกรรมออนไลน์สูงสุดในโลก

ระบบธนาคารต้องเสถียร ประสบการณ์ต้องดี

สยาม เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษกับ การเงินธนาคาร ว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการใช้บริการโมบายล์แบงกิ้งมากที่สุดในโลก เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบชำระเงินพร้อมเพย์ ซึ่งทำให้การโอนเงินต่างๆ ไม่มีค่าธรรมเนียม ส่งให้การทำธุรกรรมทางการเงินเข้าสู่ช่องทางโมบายล์อย่างรวดเร็ว หากดูจำนวนธุรกรรมทั้งหมดจะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีธุรกรรมการเงินผ่านระบบออนไลน์สูงที่สุดในโลก

โดยหากเปรียบเทียบปีต่อปี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2563 ปริมาณธุรกรรมบนระบบพร้อมเพย์อยู่ที่ 16 ล้านธุรกรรมต่อวัน ขณะที่เดือนตุลาคมปี 2564 ธุรกรรมในระบบพร้อมเพย์สูงถึง 31 ล้านธุรกรรมต่อวัน การเติบโตที่รวดเร็วนี้ ถือเป็นหนึ่งในแรงกดดันของธนาคารที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลให้ได้

ปริมาณธุรกรรมออนไลน์ที่เติบโตสูง มาพร้อมกับพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันผู้คนสะดวกที่จะใช้บริการโมบายล์แบงกิ้ง มากกว่าการใช้บริการสาขา การใช้จ่ายกระจุกตัวบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นส่วนใหญ่

สิ่งที่ธนาคารกรุงศรีมองเห็นคือ ตัวปริมาณธุรกรรมโดยรวมที่ผ่านธนาคารนั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อ 4 ปีที่แล้วธุรกรรมออนไลน์มีสัดส่วนแค่ 20% อีก 80% คือสาขาและเอทีเอ็ม แต่ปัจจุบันกลายเป็นธุรกรรมออนไลน์ 80% และอีก 20% เป็นสาขาและเอทีเอ็ม ขณะที่การแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็ยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เร็วยิ่งขึ้น

“จากสิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าการลงทุนของธนาคารก็ต้องเน้นไปที่ช่องทางออนไลน์ ยิ่งมีลูกค้าใช้เยอะก็ต้องทำระบบให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น การเน้นที่บริการดิจิทัลอย่างเดียวไม่พอ เพราะดิจิทัลเป็นเพียงช่องทางหน้าบ้าน แต่ต้องเน้นทั้ง End to End เพื่อให้ระบบสามารถรองรับการใช้งานในช่วงที่มีความหนาแน่นของธุรกรรมสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สยาม ฉายภาพภายในธนาคารว่า ธนาคารกรุงศรีมองเห็นแนวโน้มเหล่านี้ชัดเจน และมองว่าการสร้างให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างไอทีและดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญ โดยฝั่งไอทีจะเน้นที่ฮาร์ดแวร์โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีเป็นหลัก และให้ส่วนงานดิจิทัลมุ่งเน้นเรื่องที่เชื่อมโยงกับธุรกิจ เช่น ระบบออนไลน์ บริการโมบายล์แบงกิ้ง การใช้เทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการเปิด API เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนต่างๆ

“การได้มาดูแลทั้ง 2 ส่วนงานถือเป็นการผสมผสานที่ดี เพราะการจะตัดสินใจริเริ่มพัฒนาทางด้านดิจิทัลจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ถึงจะเดินหน้าได้ไร้รอยต่อ หากแยกออกจากกันอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะ Priority ของฝั่งดิจิทัลและไอทีนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น การรวมทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันทั้ง 2 ส่วนงาน”

ซีไอดีโอ กรุงศรี ฉายภาพต่อว่า ในภาวะที่อุตสาหกรรมธนาคารมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ธนาคารกรุงศรี มีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะมุ่งเน้นการทำธุรกิจธนาคารเป็นหลักและสิ่งสำคัญคือ การเก็บส่วนงานไอทีและดิจิทัลไว้ภายในธนาคาร เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการริเริ่มนวัตกรรมดิจิทัลของธนาคาร จะทำเพื่อตอบความต้องการลูกค้าเป็นหลัก และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ส่งไปยังลูกค้านั้นดีขึ้น

“หลักการของเราคือทั้งไอทีและดิจิทัล จะมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น ทั้ง2 ส่วนจึงต้องเข้ามาอยู่ใกล้ลูกค้าให้มากที่สุด เพื่อที่จะเข้าใจและตอบความต้องการลูกค้าให้ได้ดีที่สุด นี่คือสิ่งที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด”

 

ลุย 3 ภารกิจ ขับเคลื่อน

ยุทธศาสตร์แบงก์ ยกระดับ อินฟราฯ มุ่งเทคโนโลยีอนาคต

สยามกล่าวว่า วิสัยทัศน์ด้านไอทีและดิจิทัลในปี 2565 จะเน้นที่ 3 เรื่องหลักคือ

       1. สนับสนุนการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ (Deliver Business Plan) วิสัยทัศน์หลักของธนาคารกรุงศรีคือ การมุ่งเน้นในเรื่องของการขยายธุรกิจไปในระดับภูมิภาค โดยใช้จุดแข็งของการเป็นบริษัทในเครือ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ที่มีฐานลูกค้าและเน็ตเวิร์กทั่วโลกผสานกับความเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อบุคคล สินเชื่อ SME และความเข้าใจภาวะตลาดในภูมิภาคนี้เป็นอย่างดีของธนาคารกรุงศรี เพื่อสนับสนุนให้การขยายธุรกิจในต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น

        ปัจจุบัน กรุงศรีมีเครือข่ายแข็งแกร่งที่ให้บริการครอบคลุม 5 ประเทศในอาเซียนทั้งในรูปแบบสาขา สำนักงานผู้แทน ธนาคารท้องถิ่น ผู้ให้บริการทางการเงินท้องถิ่น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย สาขาของธนาคารในเวียงจันทน์ ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อย และสถาบันการเงินจุลภาคที่ไม่รับเงินฝาก

        กรุงศรี จำกัด ใน สปป.ลาว ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศกัมพูชา ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์ และสำนักงานตัวแทนในเมียนมา อีกทั้งกรุงศรียังได้ร่วมทุนกับ Saigon-Hanoi Commercial Joint Stock Bank (“SHB”) ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ในประเทศเวียดนาม ในการซื้อและรับโอนเงินทุนก่อตั้ง (Charter Capital) 100% ของบริษัท SHBank Finance Company Limited (“SHB Finance”) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการสินเชื่อเพื่อรายย่อย 10 อันดับแรกของประเทศเวียดนามอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้โอกาสจากเครือข่ายที่ครอบคลุมเกือบทุกประเทศในอาเซียนของ MUFG ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับ Bank Danamon ในอินโดนีเซีย VietinBank ในเวียดนาม และ Security Bank ในฟิลิปปินส์อีกด้วย

        นอกจากนี้ จะดำเนินตามกลยุทธ์ “One Retail Transformation” โดยนำฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ของบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีมารวมกันเพื่อทำการวิเคราะห์ ให้สามารถ มองเห็นพฤติกรรมลูกค้าได้ชัดขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้นทั้งในด้านความเสี่ยงและการบริการ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

        2. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (Modernize Infrastructure) ธนาคารกรุงศรีมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ทำให้ต้องมองถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีใหม่ เพื่อให้รองรับการเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่การเติบโตเริ่มชะลอตัว จึงเป็นโอกาสดีที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง

        พื้นฐานด้านไอทีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนทั้งในด้านของระบบและกระบวนการทำงาน โดยเน้นให้เกิดผลลัพธ์ใน 3 เรื่องสำคัญคือ 1. Speed ที่ต้องทำให้ Time to Market เร็วขึ้น 2. Stability ความเสถียรของระบบ 3. Cost ต้นทุนที่ต้องต่ำลง

        สยาม เผยว่า ธนาคารกรุงศรีได้ร่วมมือกับบริษัท Hewlett Packard Enterprise : HPE ซึ่งถือเป็นพันธมิตรสำคัญของธนาคารกรุงศรีมายาวนาน ช่วยสนับสนุนในเรื่องของฮาร์ดแวร์ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการโมบายล์แบงกิ้ง ระบบงานออนไลน์ในรูปแบบดิจิตอล (Kept) การประมวลผลระบบงาน Critical Services ตลอดจนดาต้าเซ็นเตอร์สำรอง โดยใช้ HPE Backup Solution ที่สามารถทำ Deduplication and Compression ช่วยลดปริมาณในการจัดเก็บข้อมูล และสามารถรองรับการเชื่อมต่อขึ้น Cloud ให้เป็นไปอย่างราบรื่น

        “ธุรกรรมของ Krungsri Mobile App เพิ่มขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 9 ล้านธุรกรรมต่อวัน หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ดีพอ เราจะไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไอทีเปรียบเสมือน Utility ที่สำคัญของธุรกิจ การมีพันธมิตรที่ดีอย่าง HPE ช่วยให้เรามีความมั่นใจในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ลูกค้าได้ ซึ่ง คอนเซ็ปต์ของเราคือ ใครเก่งอะไรให้คนนั้นทำ เพื่อให้เราสามารถเน้นสิ่งที่เป็นยุทธศาสตร์ได้เต็มที่ เช่น การให้บริการลูกค้า และการหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ”

        3. มุ่งลงทุนเทคโนโลยีอนาคต (Explore the Future) ธนาคารกรุงศรีเป็นบริษัทในเครือ MUFG ซึ่งเป็นสถาบันการเงินใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก แม้ธนาคารกรุงศรียังคงให้ส่วนงานไอทีและดิจิทัลอยู่ในธนาคารเพื่อให้ใกล้ชิดกับลูกค้า แต่ขณะเดียวกันก็ลงทุนผ่าน 2 บริษัทย่อยคือ 1. กรุงศรี นิมเบิล (Krungsri Nimble) ที่มีโพสิชั่นเป็นบริษัทเทคโนโลยี 2. กรุงศรีฟินโนเวต (Krungsri Finnovate) ที่มีโพสิชั่นเป็นบริษัทที่ลงทุนในสตาร์ตอัพ

        ทั้ง 2 บริษัทย่อยจะช่วย Explore ใน 2 ด้านสำคัญ คือ 1. กรุงศรี นิมเบิล จะเน้นเรื่องเทคโนโลยี ส่วน กรุงศรี ฟินโนเวต จะเน้นเรื่องของการทำพาร์ตเนอร์ชิป และการค้นหาสตาร์ตอัพเก่งๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ส่งไปยังลูกค้า

“ทุกโจทย์เราจะเริ่มจากลูกค้าก่อนจากนั้นจึงหาเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพที่เราคิดว่าจะสามารถสร้างอีโคซิสเต็มส์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของเราได้ ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับ MUFG ซึ่งเป็นบริษัทที่มองหาพันธมิตรทางเทคโนโลยีในระดับโลก และได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ นั่นจึงทำให้ธนาคารกรุงศรีมุ่งเน้นในส่วนของลูกค้า ส่วนเรื่องเทคโนโลยีและการทำพาร์ตเนอร์ชิปนั้นจะทำผ่าน 2 บริษัทย่อย และร่วมกับ MUFG พัฒนาเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อนำเทคโนโลยีนั้นมาให้บริการกับลูกค้าของเรา”

 

ส่งบริการใหม่บนพร้อมเพย์ ฝั่งธุรกิจ

เตรียมใช้ CBDC ต่อยอดการชำระเงิน

สยาม กล่าวว่า ในปี 2565 ธนาคารกรุงศรีจะมองบริการทางการเงินในลักษณะ Banking as a Service มากขึ้น เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป เมื่อลูกค้าต้องการบริการทางการเงินจะไม่ได้ตรงเข้ามาใช้บริการสาขา หรือแม้แต่การเปิดโมบายล์แบงกิ้งของธนาคาร สิ่งที่จะเห็นในปี 2565 คือการที่ธนาคารกรุงศรีจะสร้างการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มต่างๆ (Open API) เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกมากที่สุด เช่น การชำระเงิน หรือทำธุรกรรมในด้านต่างๆ ลูกค้าจะสามารถทำได้บนแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้เลย ไม่จำเป็นต้องเปิดแอปพลิเคชั่นของธนาคาร นอกจากนี้ จะมีเรื่องของการให้บริการ e-Statement และการรองรับ e-KYC ด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีจะสนับสนุนการทำ Smart Financial Infrastructure ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และภาครัฐ เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ เปรียบได้กับระบบพร้อมเพย์ฝั่งธุรกิจ ที่รองรับการทำธุรกรรมแบบ B2B ซึ่งมีความซับซ้อนมากกว่าระบบพร้อมเพย์ในปัจจุบัน ซึ่งหากสามารถยกธุรกรรมของภาคธุรกิจขึ้นสู่ออนไลน์ได้ จะช่วยเรื่องการลดต้นทุนการใช้กระดาษ การเดินทาง เพิ่มความโปร่งใสด้วยการเห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ และยังช่วยให้ธุรกิจ SME สามารถได้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง เพิ่มสภาพคล่องในการทำธุรกิจ

สยาม เผยต่อว่า เรื่องที่สำคัญในปีนี้คือการมาของ CBDC (Central Bank Digital Currency) ขณะนี้อยู่ในช่วงของการหารือกับหลายธนาคารว่าจะใช้ CBDC ในการสร้าง Pilot Case ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งด้วยตัว CBDC แล้วสามารถทำได้หลายอย่างเพราะเป็น Programmable Money ที่สามารถระบุเงื่อนไขในการใช้งานได้ เช่น การชำระเงินให้ใคร เมื่อไหร่ ภายใต้เงื่อนไขใด ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะในอนาคตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอาจมีการกำหนดเงื่อนไข เช่น จะปล่อยสินเชื่อต่อเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขและต้องใช้เงินตามที่กำหนด ช่วยให้ต้นทุนปล่อยสินเชื่อต่ำลง เพราะไม่ต้องมีการทำ Physical Control

อีกแนวคิดหนึ่งคือ การนำ CBDC มาปรับใช้กับเรื่อง Online Merchant โดยสร้างเป็น Conditional Payment เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโกงออนไลน์ได้ เช่น การซื้อของออนไลน์ แล้วร้านค้าไม่ส่งของ หรือส่งของไม่ตรงตามที่กำหนด แต่หากกระบวนการยังไม่ตรงตามเงื่อนไขก็จะไม่สามารถใช้เงินนั้นได้

“สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงของการหารือยังไม่ได้มีออกมาเป็น Use case แต่ในเบื้องต้นธนาคารกรุงศรีมองว่า การเป็น Programmable Money น่าจะนำมาช่วยให้เกิดการใช้งานตามแนวคิดเหล่านี้ได้ และยังต่อยอดไปสู่การชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ ได้อีกเยอะมาก และยังช่วยลดต้นทุนในการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่ในอดีตไม่สามารถทำได้”  กับความไม่แน่นอนเยอะแล้วและไม่ต้องการความไม่แน่นอนในกำหนดนโยบายมาซ้ำเติม”

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ธนาคารกลางที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาล การวางบทบาทของธนาคารกลาง และการกำหนดมาตรการบางอย่างจึงต้องชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความสำคัญ ซึ่งธนาคารกลางมีความน่าเชื่อถือ ทั้งในมุมสาธารณชนและมุมที่รัฐบาลฟังสิ่งที่เสนอ ธนาคารกลางจึงต้องรักษาความน่าเชื่อถือนั้นไว้

สำหรับประเทศไทยนโยบายการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่มีความจำเป็นต้องได้รับแรงหนุน เช่นในสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้น ภาวะทางการเงินต้องไม่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัว ตามที่เห็นมาตรการทางการเงินที่มีส่วนผ่อนคลายการกำกับธนาคารในการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอุปสรรคไม่ได้อยู่กับเรื่องได้สินเชื่อไม่ได้สินเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภาพรวมของเศรษฐกิจเช่น ภาคท่องเที่ยว การลงทุน ภาคการเงินเสริมได้เต็มที่ระดับหนึ่ง แต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย

การร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและหน่วยงานอื่นๆ ที่ผ่านมา มีความราบรื่น สะท้อนจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ที่ต้องผสานกับหลายองค์กร ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี”




ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม  2565 ฉบับที่ 477

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi  

 รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt