Exclusive Interview : ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ แนะต้องทำนโยบายแบบมุ่งเป้า
ดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้
แนะต้องทำนโยบายแบบมุ่งเป้า
“สศช.ได้คุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยทุกคนมองตรงกันว่า แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่อง Inflation แต่ยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิด Stagflation เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในภาวะ Stagnation คือยังขยายตัวได้ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นถือเป็นแนวโน้มชั่วคราว โดยคาดว่าจะสูงในช่วงไตรมาสที่สองตามราคาในตลาดโลกก่อนที่จะมีแนวโน้มเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปี”
“แนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะสั้นต้องทำแบบมุ่งเป้า
โดยควรมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ทั้งผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ
COVID-19
และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้
ควรเป็นมาตรการที่ไม่แทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด
และหากเป็นไปได้ควรสามารถปรับใช้ต่อเนื่องในระยะปานกลางและระยะยาวได้ด้วย”
ปี 2565
ยังเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากทั้งการระบาดของ COVID-19
และสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน
โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีหน้าที่กำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
รวมทั้งจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
จึงได้เสนอแนะนโยบายเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติที่ในครั้งนี้ไปได้
ดนุชา
พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่
1 ตุลาคม 2563
ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์
COVID-19 และความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน
แต่ในไตรมาสแรกของปี 2565
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องจากไตรมาส 4
ของปี2564 โดยสะท้อนจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่แสดงทิศทางการปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านการใช้จ่ายและด้านการผลิต
“เศรษฐกิจไทยในไตรมาส
1 ปี 2565
มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยสะท้อนจากการใช้จ่ายและการส่งออกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนอุปสงค์ภายในประเทศ
ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคบริการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ภายหลังจากมีการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง”
ยันไม่เกิดภาวะ Stagflation
พร้อมจับตา 4
ปัจจัยเสี่ยง
ดนุชากล่าวว่า
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565
มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจาก
1. การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด
และไม่รุนแรงมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้าในช่วงก่อนหน้า
ประกอบกับความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชน
2. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายหลังจากการเปิดประเทศภายใต้มาตรการ
Test & Go อีกครั้งนับตั้งแต่วันที่ 1
กุมภาพันธ์ 2565
ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565
มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้วทั้งสิ้นประมาณ 4.7
แสนคน มากกว่าทั้งปี 2564 ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 4.3
แสนคน และคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้น
3. ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
นำโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการการระบาด
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่และเศรษฐกิจอาเซียนที่พึ่งพิงการส่งออกขยายตัวได้
โดยคาดว่าสินค้าส่งออกสำคัญที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวดี
4. แรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ
ทั้งการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
และงบประมาณจากพระราชกำหนดฯ เงินกู้ เพิ่มเติม พ.ศ.2564
วงเงิน 5 แสนล้านบาท
ดนุชากล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
และอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่
1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อ ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาพลังงาน
และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ รวมทั้งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
จากการลดลงของนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปตะวันออกบางส่วน
ประกอบกับทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ขณะเดียวกัน
หากสถานการณ์ยืดเยื้อมากขึ้น
ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก
และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้ อย่างไรก็ตาม
สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูง
จำเป็นต้องติดตามและประเมินสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป
2. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
COVID-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัส
3. เงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ
จากระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)
และสินเชื่อชั้นที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SML) ในกลุ่มผู้ประกอบการ
SMEs ที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นมาก
เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าการระบาด ขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
4. ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็ว
และแรงขึ้นกว่าที่คาดของธนาคารกลางประเทศสำคัญเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
ดนุชากล่าวว่า
สำหรับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดภาวะ Stagflation นั้น
นิยามโดยทั่วไปภาวะ Stagflation หมายถึง
การที่เศรษฐกิจชะลอตัวและมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Stagnation) และเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง
(Inflation) เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2565
ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3-4%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
มาจากปัจจัยชั่วคราวจากปัจจัยการเพิ่มขึ้นทางด้านอุปทานจากราคาน้ำมันและราคาอาหารเป็นหลัก
และยังไม่เห็นสัญญาณการกระจายตัวของตะกร้าสินค้าที่ครอบคลุมหลายประเภท
และคาดว่าจะเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น
เศรษฐกิจไทยจึงยังไม่เข้าข่ายการเกิด Stagflation
อย่างไรก็ดี
ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด
ซึ่งหากมีความยืดเยื้อก็จะส่งผลต่อการเร่งขึ้นมากกว่าที่คาดของอัตราเงินเฟ้อ
และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยได้
“สศช.ได้คุยกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยทุกคนมองตรงกันว่า
แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่อง Inflation แต่ยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิด Stagflation
เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในภาวะ Stagnation คือยังขยายตัวได้และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นถือเป็นแนวโน้มชั่วคราว
โดยคาดว่าจะสูงในช่วงไตรมาสที่สองตามราคาในตลาดโลก ก่อนที่จะมีแนวโน้มเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปี”
แนะ 4 แนวทางการออกนโยบาย
รับมือปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ
ดนุชากล่าวว่า
ภายใต้วิกฤติที่เกิดขึ้น
ส่งผลให้สถานการณ์โลกในปัจจุบันยังคงมีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกใหม่
(New World Order) และภูมิทัศน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ (International
Political Landscape) ที่จะส่งผลต่อประเทศไทย
ประกอบกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่จะมีผลกระทบในระยะต่อไป อาทิ
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
ดังนั้น
แนวทางการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปจึงควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยให้สามารถพึ่งตัวเองได้
(Building self-sufficient economy) เพื่อรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากภายนอกประเทศ
รวมถึงสร้างความมั่นคงทางด้านต่างๆ ให้กับประเทศ ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน
รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม
ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
(Resilient and sustainable economy)
โดยมีแนวทางการดำเนินนโยบายที่ควรต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่สำคัญประกอบด้วย
1. การดำเนินมาตรการระยะสั้นแบบมุ่งเป้า
(Targeted) เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น
ทั้งนี้ การพิจารณามาตรการจะต้องคำนึงถึงช่องว่างของนโยบายที่มีอย่างจำกัด
เพื่อใช้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า
และยกระดับมาตรการภาพรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพร้อมรองรับเหตุการณ์ต่างๆ
ในอนาคต
“แนวทางการดำเนินนโยบาย
เพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ต้องทำแบบมุ่งเป้า
โดยควรมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทั้งผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของ
COVID-19
และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้
ควรเป็นมาตรการที่ไม่แทรกแซงและบิดเบือนกลไกตลาด
และหากเป็นไปได้ควรสามารถปรับใช้ต่อเนื่องในระยะปานกลางและระยะยาวได้ด้วย”
2. การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
(Low-carbon society) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี
2593
และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2608
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนดำเนินการ (Roadmap) เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ ได้แก่
(1) มิติเศรษฐกิจ
ผ่านการปรับโครงสร้างการผลิตโดยเฉพาะสาขาเศรษฐกิจหรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมาก
ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต
และภาคการขนส่งพร้อมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
(2) มิติพลังงาน
โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของภาคการผลิตต่างๆ
การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาด
(3) มิติสิ่งแวดล้อม
โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
รวมทั้งรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ต่างๆ
(4) มิติการดำรงชีวิต
อาทิ การบริหารจัดการขยะและมลพิษทางชุมชน
การลงทุนระบบขนส่งสาธารณะและระบบรางมากขึ้น เป็นต้น
3. การเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและการประกอบการของภาคธุรกิจ
เศรษฐกิจไทยจำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการ
โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น
เพื่อยกระดับมูลค่าเพิ่ม สามารถตอบโจทย์การเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก
รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการแบ่งขั้วอำนาจของเศรษฐกิจโลกหากเกิดขึ้นในระยะต่อไป
4. การสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร
เนื่องจากภาคเกษตรกรรมยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย
ทั้งในบทบาทของการเป็นจุดแข็งทางด้านทรัพยากร การรองรับและดูดซับแรงงาน รวมทั้งยังมีความสำคัญในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
“การสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร ควรมีนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่การขยายผลของการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ควบคู่ไปกับการจัดทำฐานข้อมูลการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุด และสามารถยกระดับผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตร ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤษภาคม 2565
ฉบับที่ 481 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร
ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt