CEO talk : อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์
อาทิตย์ นันทวิทยา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร
ธนาคารไทยพาณิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์
Reimagine SCB นำยานแม่มุ่งหน้าสู่
“กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินระดับอาเซียน”
“ธนาคารเป็นธุรกิจมีลักษณะเฉพาะตัว ต้องเป็นตัวกลางรับเงินฝากไปปล่อยกู้ จึงต้องดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ฝากเงิน ทำให้ธนาคารเป็นธุรกิจรูปแบบ Low Risk Low Return แต่โลกมีความไม่แน่นอนสูงและเสี่ยงสูงขึ้น การอยู่ในรูปแบบเดิมและหวังเปลี่ยนให้ธนาคารเป็นอย่างอื่นเป็นไปได้ยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจเดินออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ Low Risk แบบเดิมนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้”
วันที่ 22 กันยายน 2564 กลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB Group) ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรรับบริบทใหม่ของโลก จัดตั้งบริษัทแม่ภายใต้ชื่อ “SCB X” (เอสซีบี เอกซ์) เพื่อเร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มอย่างเต็มรูปแบบ ยกระดับสู่กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568 โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคน พร้อมภารกิจเชื่อมต่อ Ecosystem ทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) ครั้งที่ 1/2564 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงินไทยพาณิชย์ โดยให้ดำเนินการแลกหุ้นจากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCB” เป็น “SCB X” และนำหุ้น “SCB X” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ โดย SCB X จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCB X และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCB X
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติการโอนย้ายบริษัทย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น ให้แก่ SCB X หรือบริษัทย่อยของ SCB X และการมอบอำนาจที่เกี่ยวข้อง และอนุมัติการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันให้แก่ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (Card X) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ของ SCB X โดยที่ SCB X จะถือหุ้นใน Card X ร้อยละ 99.99
ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติให้ธนาคารไทยพาณิชย์จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 7 หมื่นล้านบาท ให้แก่ SCB X เพื่อสำหรับการรับโอนบริษัทย่อยและธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้น การจัดตั้งบริษัทใหม่ และการลงทุนใหม่เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตในอนาคต ตามที่คณะกรรมการธนาคารเสนอ
ยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ที่ความสำเร็จขององค์กรขึ้นอยู่กับความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการเติบโตของธุรกิจใหม่ และวิสัยทัศน์ใหม่ที่ไทยพาณิชย์จะเป็น "กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าชื่นชมที่สุดในอาเซียน"
ถอดบทเรียน “ตีลังกา”
สร้าง “ยานแม่ SCB X”
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์มองเห็นกระแสของการเปลี่ยนแปลงของโลกใหม่ และเตรียมตัวรับยุคแห่ง Disruption ที่จะทำให้การทำงานของธนาคารในรูปแบบเดิมอาจจะไม่เหมือนเดิมได้อีกต่อไป
จนในปี 2559 ยุทธศาสตร์ของไทยพาณิชย์ จึงเริ่มมุ่งเปลี่ยนแปลงธนาคารไทยพาณิชย์ให้กลายเป็นองค์กรเทคโนโลยี ตามที่ได้เคยกล่าวถึงชื่อ “ยุทธศาสตร์ตีลังกา” หรือการ Transformation ด้วยภาพจินตนาการในขณะนั้นคือการมุ่งเปลี่ยนตัวธนาคาร มีการเริ่มแตกบริษัทย่อยหลายแห่งออกมาหลายรายอยู่ภายใต้ธนาคาร แต่การเริ่มเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นทำให้พบว่าการเปลี่ยนแปลงธนาคารเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเลย
“ธนาคารเป็นธุรกิจมีลักษณะเฉพาะตัว ต้องเป็นตัวกลางรับเงินฝากไปปล่อยกู้ จึงต้องดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ฝากเงิน ทำให้ธนาคารเป็นธุรกิจรูปแบบ Low Risk Low Return แต่โลกมีความไม่แน่นอนสูงและเสี่ยงสูงขึ้น การอยู่ในรูปแบบเดิมและหวังเปลี่ยนให้ธนาคารเป็นอย่างอื่นเป็นไปได้ยาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจเดินออกจากสิ่งที่ไม่ใช่ Low Risk แบบเดิมนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้”
อาทิตย์เผยต่อว่า นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครั้งนี้ และการที่จะทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรในครั้งนี้ได้จริง สิ่งสำคัญคือ การสร้าง “เถ้าแก่น้อย” หรือการให้ผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ รับบทบาท CEO ของบริษัทย่อยต่างๆ ซึ่งมีเป้าประสงค์คือ การสร้างทัศนคติใหม่ของคนที่ต้องทำงานในธนาคารที่เป็นธุรกิจแบบ Low Risk จนอาจถูกตีกรอบการทำงานมาเป็นเวลานาน และขาดความกล้าที่จะรับความเสี่ยงให้มากขึ้น
“การทำงานในธุรกิจธนาคารที่มีกรอบ หากให้เป็นแบบนั้นจะทำให้ไม่มีคนที่มีมุมมองของการเป็นเจ้าของมากพอในองค์กร และไม่สามารถดึงดูดคนมีความสามารถใหม่ๆ ได้ เพราะโลกของธุรกิจใหม่จะอยู่บนความเสี่ยงที่แตกต่างไปจากเดิม มีเรื่องเทคโนโลยีที่เดินหน้าด้วยความรวดเร็วสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่เห็นว่ามีผู้เล่นหน้าใหม่อายุน้อย สร้างองค์กรที่มีมูลค่าสูงขึ้นมาเองได้ ซึ่งคนเหล่านี้จะไม่สนใจการทำงานของธนาคาร”
เมื่อมีความคิดที่จะปลดล็อกองค์กรให้เกิดความชัดเจนว่าจะเดินหน้าเรื่องใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงาน จึงเป็นที่มาให้เกิดการแตกบริษัทย่อยออกกว่า 16 บริษัทและให้แต่ละบริษัทมี CEO เป็นของตัวเอง โดย CEO ในแต่ละบริษัทนั้นจะไม่ต้องรายงานตรงขึ้นมาที่คนๆ เดียวอีกต่อไปแล้ว โดยจะมีคณะกรรมการ (บอร์ด) ของ SCB X ที่จะคอยรับรายงานจากบริษัทย่อยเหล่านั้น โดยเป้าหมายของบริษัทที่แตกย่อยออกไปคือการแตกเพื่อให้เติบโต นั่นคือ ทุกบริษัทต้องพาตัวเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ให้ได้
“ในธรรมาภิบาลใหม่ของ SCB X เถ้าแก่น้อยทุกคนจะเป็นคนกำหนดเองว่าจะขับเคลื่อนองค์กรแต่ละแห่งของตัวเองไปอย่างไหน ทุกคนต้องเดินหน้าสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง แต่ละบริษัทจะมีบอร์ดเป็นของตัวเอง มีอาณาจักรเป็นของตัวเองและมีเป้าหมายทำให้บริษัทของตัวเองเข้า IPO ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นไทยหรือตลาดหุ้นต่างประเทศ เมื่อทุกคนดูแลธุรกิจเองได้ กรุ๊ปก็ขับเคลื่อนไปหาเรื่องใหม่อื่นๆ ได้เช่นกัน”
การเติบโต 3 ระยะ
จากเหล่ายานลูก
อาทิตย์กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของ SCB X หลังจากนี้คือการมองหาธุรกิจใหม่ เข้าไปเจรจากับพันธมิตร บริหารจัดการเงินทุนของกรุ๊ปและการหาผู้ที่จะทำหน้าที่ CEO ให้ธุรกิจใหม่ที่มีแผนสร้างขึ้นตามมาอีกต่อเนื่อง โดยรูปแบบของแต่ละบริษัทย่อยภายใต้ SCB X จะไม่ได้กำหนดว่า SCB X ต้องเป็นผู้ถือหุ้นเบ็ดเสร็จ 100% ทุกบริษัทแต่จะมีทั้งรูปแบบร่วมทุน (JV) ด้วย
ซึ่งการเติบโตของบริษัทย่อยใน SCB x จะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยบริษัทที่กำลังเข้าสู่ระยะแรกคือ Card X ธุรกิจด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้ง Auto X ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ทั้งสองบริษัทจะเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ตั้งเป้าเติบโตให้ได้เร็วและมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่มาก ซึ่งคาดว่าจะเห็นการเติบโตของ 2 บริษัทนี้ภายใน 3 ปีแรกได้เลย
ส่วนบริษัทย่อยที่เริ่มไปแล้วและกำลังจะเข้าสู่ระยะที่ 2 คือการระดมทุนได้ด้วยตัวเอง เช่น บริษัท SCB Abacus เป็นบริษัททำแอปพลิเคชั่น เงินทันเด้อ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งได้รับเงินทุนก้อนแรกจากธนาคารเป็นการก่อตั้งและให้สร้างการเติบโตด้วยตัวเองมีความท้าทายว่าหากทำไม่ได้จะต้องปิดบริษัท แต่ปัจจุบัน SCB Abacus สามารถระดมทุนผ่านซีรีส์ A ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาทได้แล้วมียอดดาวน์โหลด 5 ล้านดาวน์โหลด ตั้งเป้าเป็นเบอร์ 1 ในด้านรายได้และสินเชื่อด้วยเป้าหมายเติบโต 10 เท่า
ขณะที่อีกบริษัท คือ MONIX บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์น จากประเทศจีน ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินครบวงจรที่ให้บริการสินเชื่อ Digital Lending "finnix" โดยธนาคารร่วมลงทุนด้วยงบก้อนแรกและภายในเวลา 1 ปีครึ่งก็สามารถสร้างกำไรได้แล้ว โดยมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกว่า 4 ล้านครั้ง พร้อมปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4 พันล้านบาท และในปี 2565 จะเริ่มระดมทุนแล้ว
ส่วน Robinhood ที่เป็นแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหารที่นำผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้บริโภค และพนักงานขนส่งมารวมกัน โดยมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าภายใน 1 ไตรมาส จากผู้ใช้งาน 1.2 ล้านเป็นผู้ใช้งาน 2.2 ล้านคน และจำนวนผู้ประกอบการรายย่อยพุ่งสูงขึ้นเป็นมากกว่า 150,000 ราย ทั้งนี้ Robinhood ตั้งเป้าพัฒนาแพลตฟอร์มเป็น Super App ในระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการระดมทุนได้เอง
และล่าสุดมี AISCB บริษัทร่วมทุนระหว่าง “เอไอเอส” และ “ธนาคารไทยพาณิชย์” โดย AISCB จะร่วมกันให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บนแพลตฟอร์ม ครอบคลุมฐานลูกค้าทั้งสององค์กรกว่า 50 ล้านคน ก่อนขยายสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งมองว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นระดับยูนิคอร์นได้ เพราะฐานลูกค้า AIS ไม่ใช่แค่เรื่องจะทำแค่เรื่องสินเชื่อเท่านั้นแต่ขยายไปสู่ธุรกิจประกันหรือธุรกิจ Wealth ได้ด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ 3 คือการเติบโตระยะยาว 4 -5 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องของการลงทุนที่มีทั้ง บริษัทร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์เพื่อบริหารจัดการกองทุนในกองทุน Venture Capital รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดย SCB X มีเป้าหมายสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะประกอบด้วย ICO Portal, กระดานแลกเปลี่ยน (Exchange) และการรับฝาก (Custody)
“ธุรกิจด้านรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ทำในประเทศเท่านั้น แต่ต้องทำในระดับภูมิภาค ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจากับสตาร์ตอัพด้าน Custody ในต่างประเทศเพื่อมาร่วมตั้งบริษัทในภูมิภาคนี้ด้วยกัน โดยการได้พันธมิตรมาร่วมก็เกิดจากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพต่างๆ ที่ผ่านมาด้วย”
ทั้งนี้ ล่าสุดกลุ่ม SCB X เข้าลงทุนใน “บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด” ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) ผ่านการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดจาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท โดยมี “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด” (SCBS) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รับหน้าที่ผลักดันและทำงานร่วมกับ “Bitkub” ในการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างธุรกิจร่วมกัน รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางด้านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Ecosystem) ที่มี Digital Asset Exchange เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของ Ecosystem ในระดับประเทศ
โดยการเข้าทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้น จะอยู่ภายใต้การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีเงื่อนไขว่า ผลการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ของ Bitkub ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565
และบริษัท Token X ได้รับความเห็นชอบในการเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) จากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยโดยอยู่ระหว่างการรอเปิดใช้งานใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่ง ICO Portal ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ SCB X สามารถบรรลุพันธกิจได้ตามเป้าหมาย ผ่านการสร้างขีดความสามารถใหม่ทางด้าน Digital Asset Tokenization ควบคู่กับการวางรากฐานระบบนิเวศด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่แข็งแกร่งในประเทศไทย
โดยบริษัทเตรียมพร้อมให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร ครอบคลุมบริการที่ปรึกษา-วางแผนการออกโทเคนดิจิทัล-การพัฒนาด้านบล็อกเชนและเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมาเราได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าระดับองค์กรในหลากหลายอุตสาหกรรมชั้นนำระดับประเทศ ที่ให้ความสนใจและตอบรับเข้าร่วมวางแผนการทำ Tokenization กับ Token X ตั้งเป้าเป็นองค์กรชั้นนำในอาเซียนด้าน Digital Asset Tokenization ภายในปี 2568
อาทิตย์กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้เพราะมองว่าหากไทยพาณิชย์ ต้องอยู่ในธุรกิจธนาคารแบบเดิมลำบากแน่นอน แต่จากนี้จะไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนธุรกิจธนาคาร ธุรกิจธนาคารจะเดินหน้าต่อไปแต่จะทำให้ดีกว่าเดิม มีความคล่องตัวขึ้นไม่ต้องใช้เงินใส่เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ แบบเดิมอีกต่อไป แต่ SCB X จะนำรายได้จากธนาคารมาลงทุนต่อ
“ที่เริ่มเห็นแล้วคือรายได้ส่วนหนึ่งของไทยพาณิชย์ในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา ก็มาจากผลตอบแทนจากการออกไปลงทุนในงบลงทุน 20,000 ล้านบาท ที่ลงทุนผ่าน SCB 10X ดังนั้น หุ้น SCB ที่เคยถูกมองว่าเป็นหุ้นปันผลก็จะเป็นหุ้นที่มีการเติบโต SCB จะไม่ใช่องค์กรไม่โตแต่ปันผลดี แต่จะยิ่งโตมากกว่าเดิม”
อาทิตย์กล่าวด้วยว่า ในปี 2568 ความคาดหวังของ SCB X คือ การสามารถสร้างมูลค่าของบริษัทจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาดที่มีนัยสำคัญนอกเหนือจากผลกำไรพื้นฐาน และความมั่นคงของธุรกิจธนาคารหลัก ซึ่งรวมถึงการสร้างฐานลูกค้าในระบบให้ได้ถึง 200 ล้านคน มีมูลค่าตลาด (Market Cap) 1 ล้านล้านบาท โดยในวันนี้จากจุดเริ่มต้นของ SCB X มีฐานลูกค้ากว่า 70 ล้านคนแล้ว และกำลังมองในเรื่องของภูมิภาคที่หาโอกาสลงทุนต่างๆ เช่น การเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย โดยมีการตั้งทีมระดับ International ประจำในสิงคโปร์
“ในฐานะที่เป็นคนคิดเรื่อง SCB X การ Reimagine SCB ในครั้งนี้จะเกิดกับทุกคนในองค์กรไม่ใช่แค่ธนาคารเท่านั้น แต่เป็นรากฐานใหม่ของ SCB ที่ได้เกิดขึ้น ความเสี่ยงขององค์กรจะน้อยลง มีโครงสร้างใหม่ มีรายได้ระยะยาว มีมุมมองเรื่องการเติบโตที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว เมื่อใดที่ SCB X แข็งแรงได้หากถึงวันนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ”
สำหรับขั้นตอนจากนี้นั้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ผู้ถือหุ้นจะพิจารณาทำคำตอบรับการเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) จาก บริษัท SCB X โดยผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 90% ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 หุ้น “SCB X” จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเพิกถอนหุ้น “SCB” ในวันเดียวกัน โดยจะยังใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “SCB” และผู้ถือหุ้น SCB จะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น SCB X แทน
ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ฉบับที่ 476
ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt