เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 6)
ผลพวงการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน รวมถึงมีการยุบพรรค และการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมามีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งการปฏิวัติรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย อย่างมาก
หลังจากได้นำเสนอประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของผมไป 3 ช่วงแล้ว ฉบับนี้ขอเข้าสู่ในช่วงที่ 4 พ.ศ.2544-2553 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ดังนี้
ช่วงที่ 4 การกอบกู้และก้าวต่อ The Great Reset พ.ศ. 2544-2553
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังผ่านพ้นจุดวิกฤติจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ประกอบกับการที่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 จึงได้มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป โดยมีนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ทักษิโณมิกส์” ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมากมาย มีกฎหมายออกมาหลายฉบับ, มีการจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่หลายแห่ง และในช่วงเดียวกัน ประเทศไทยได้มีการกำหนดนโยบายทางการเงิน นโยบายกำกับสถาบันการเงิน และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการเปิดเสรีทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
ในมิติด้านการเงินก็ถือว่าช่วงปีศตวรรษที่ 3 หรือ 2544-2553 นั้น ได้เป็นยุคของธนาคารยุคใหม่ที่ก้าวข้ามโลกข้ามพรมแดน ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกทำให้ อุตสาหกรรมการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นกลไกหรือฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินบาทมีค่าแข็งตัว ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหรือเรียกว่า แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส ในปี 2551 ก็มีผลต่อปัจจัยลบกับเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญคือ การปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2 ในปี 2549
โดยภายหลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนของอดีตนายกฯทักษิณก็ได้เสียงข้างมาก โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมามีการยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล และหลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็ได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนจะมีการปฏิวัติอีกครั้งในปี 2557 โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
ในช่วงปี 2544-2553 ได้มีธุรกรรมทางการเงิน, ภาษีอากร และ ตลาดทุนและนโยบายต่างๆ ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว พอสรุปเหตุการณ์ได้ดังนี้
1.การไปลงทุนต่างประเทศ ผ่านกองทุนรวม FiF
2.การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร แก่กองทุน RMF และ LTF
3.การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น ปตท., การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย, บริษัท อสมท โดย 3 องค์กรนี้ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ส่วน กสท, ทศท และไปรษณีย์ไทย แม้มีการแปรรูปก็ยังไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้
4.มีการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุน
5.การจัดตั้งตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย
6.มีการลดภาษีกระตุ้นตลาดทุนโดยลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 25% สำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ส่วนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่
7.ในปี 2546 ประเทศไทยได้จ่ายคืนหนี้ IMF ได้ทั้งหมด มีการจัดตั้งกองทุนวายุภักดิ์ขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกการให้กับประชาชนและเพื่อระดมทุนจากตลาดเงินซึ่งมีสภาพคล่องสูงโดย มีโครงการ 10 ปี วงเงินเบื้องต้นหมื่นล้านบาท
8.นอกจากนี้ ประเทศไทยก็ยังได้เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งแกร่งให้กับธนาคารไทยโดยเข้าสู่ระยะการปฏิบัติตามแนวการกำกับดูแลของ BIS ระยะที่ 2
9.มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารเพิ่มทำให้มีธนาคารเพิ่มในระบบ และส่งผลให้เป็นการสิ้นสุดธุรกิจของบริษัทเงินทุนอย่างสิ้นเชิง มีการจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และจัดตั้งธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
10.มีการปฏิรูปราชการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น
11.ในปี พ.ศ.2547 ได้มีการควบรวมธนาคารและสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง คือ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปควบรวมกับ ธนาคารทหารไทย และ ธนาคารดีบีเอส ไทยธนุ จำกัด แทนที่จะไปร่วมกับธนาคารไทยธนาคารโดยมีการลงนามในวันเดือนมกราคม 2547 โดยผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบรวมสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่ง นี้ด้วย
12.ในปี พ.ศ.2547 ได้มีการจัดตั้งตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยขึ้น เปิดให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจ Factoring มีการจัดตั้งระบบชำระเงินแห่งชาติ
13.ในช่วงตอนต้นปี 2549 เนื่องจากมีการเก็งกำไรค่าเงินบาทและดอลลาร์อ่อนตัว ค่าเงินที่แข็งตัวนั้นเกิดจากความค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศในการซื้อหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปที่มีมูลค่าถึง 73,000 ล้านบาท รวมถึงเงินที่เข้ามาลงทุนในธนาคารกรุงศรีอยุธยาของกลุ่ม GE รัฐบาลพยายามจะดูแลไม่ให้มีการ เก็งกำไร เดือนธันวาคม 2549 จึงมีการออกมาตรการที่กำหนดให้มีการดำรงเงินสำรองเงินเข้าระยะสั้น (Unremunerated Reserve Requirements (URR))
โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาทต้องกันเงินตราต่างประเทศนั้นไว้เป็นเงินสำรองจำนวน 30% ของวงเงินที่นำมาแลกและนำส่งแก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยทุกวัน แต่มาตรการดังกล่าวก็ได้มีการผ่อนผันหลังจากที่ได้มีการประกาศไป และได้มีการยกเลิกมาตรการนี้ในเดือนมีนาคม 2551
14.ช่วงปี 2549 มีการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่ SingTel และ Temasek อันเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องภาษีจากการขายหุ้น จนนำมาสู่การปฏิวัติเดือนกันยายน 2549 ซึ่งเป็นการปฏิวัติรัฐประหารในรอบ 15 ปี หลังจากปี 2534 ซึ่งส่งผลต่อการเมืองและเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาต่อมา
15.มีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งทำให้การฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองตามจำนวนที่กำหนด ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ใช้เวลากว่า 30 ปีที่จะนำมาบังคับใช้
16.ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์ไทย อาจทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารธนชาต และ ธนาคารไทยธนาคาร ต่างพร้อมใจกันให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม GE ที่เข้ามาลงทุนใน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ING ที่เข้ามาลงทุนในธนาคารทหารไทยและ และธนาคาร Nova Scotia ของแคนาดาที่เข้ามาลงทุนธนาคารธนชาต รวมถึงการที่มี ธนาคาร CIMB เข้ามาถือหุ้นในไทยธนาคาร โดยผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำ M&A ของ GE กับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคาร Nova Scotia ซื้อหุ้นในธนาคารธนชาต และการควบรวมกิจการ
ผลพวงการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชน รวมถึงการยุบพรรค และการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมามีการจัดตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้ง จนกระทั่งการปฏิวัติรัฐประหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี พ.ศ.2557 ก็ยังมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย อย่างมาก
ในตอนต่อไป ผมจะนำความทรงจำย้อนไปแลหลังในช่วงก่อนการปฏิวัติ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงการที่ผมเริ่มเข้าเรียนหลักสูตรยอดฮิตต่างๆ การเขียนหนังสือ การทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบันทึกไว้เป็นความทรงจำและให้เป็นข้อคิดแก่ผู้อ่านต่อไป