บทเรียนนักกฎหมายธุรกิจ จากประสบการณ์ 43 ปี (ตอนที่ 1)
ความสำเร็จของผมมาพร้อมกับการเตรียมตัว ความพร้อมในความรู้และโอกาส ผมได้รับโอกาสที่ดีที่สุดตอนที่เกิดวิกฤติ 2540 ที่ได้เตรียมศึกษาเรื่องกฎหมายการปรับโครงสร้าง เมื่อโอกาสและจังหวะมาถึงเพราะมีประสบการณ์ที่เหมาะสม ความสำเร็จจึงตามมา ผมคิดว่าบทบาทหน้าที่ของผมครบถ้วน 4 อย่าง โดยเฉพาะการทำงานในฐานะครูบาอาจารย์และบทบาทในบริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ทำเรื่องการจากไปอย่างมีคุณภาพ
ผมมีเรื่องอยากจะแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564
ที่ผ่านมา ผมได้เกษียณอายุการทํางานในตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท
เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ จำกัด หลังจากที่ได้ทำงานที่สำนักงานแห่งนี้ มาครบ 43 ปี ผมจึงมีความคิดว่า ควรจะเกษียณและยุติการเขียนบทความด้านกฎหมายธุรกิจในฐานะนักเขียนของการเงินธนาคารด้วยเหมือนกัน
เพราะผมได้เริ่มเขียนบทความด้านกฎหมายธุรกิจให้กับ วารสารการเงินธนาคาร มา 32 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532
อีกทั้งหลังจากนี้ไปผมคงจะไม่ได้ประกอบวิชาชีพในฐานะที่ปรึกษากฎหมายประจำเต็มเวลาอย่างที่เคยเป็นมาในช่วงตลอดเวลา
43 ปี
แต่จะไปทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาด้านการกำกับดูแลกิจการให้กับบริษัท
องค์กร สาธารณกุศล มากกว่า
เลยเกรงว่าจะไม่มีเวลาศึกษาค้นคว้ารายละเอียดกฎหมายด้วยตนเองเหมือนเดิม
และจะทำให้ความครบถ้วน ความทันสมัย ของบทความอาจขาดหายไป
ผมขอขอบคุณ คุณสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ที่เป็นผู้สนับสนุนให้ผมเขียนบทความให้กับ
วารสารการเงินธนาคาร มาตั้งแต่ต้น และได้นำบทความต่างๆ
ไปรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือเป็นคนแรก ๆ โดยมีการรวบรวมตีพิมพ์อยู่หลายเล่มรวมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพกฎหมายตลอด
43 ปี ของผมที่ผ่านมานั้น หากได้นำมาบันทึกไว้เป็นบทเรียนของผู้สนใจในรุ่นหลัง ก็น่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
อีกทั้งผมก็กำลังที่จะเขียนหนังสือบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตการทำงานของผมในการทำงานประจำที่
เบเคอร์แอนด์แม็คเค็นซี่ โดยขณะนี้ผมได้เริ่มต้นเขียนหนังสือ เพื่อนำประสบการณ์ในการทำงานในแต่ละช่วงเวลาที่สำคัญ
ที่เกิดเหตุการณ์หรือมีธุรกรรมทางกฎหมายที่สำคัญเกิดขึ้น โดยจะได้เขียนขยาย
เพิ่มเติม และปรับปรุง จากหนังสือที่ชื่อว่า "60 ปีของผม" ที่ผมได้เคยจัดพิมพ์แจกจ่าย
ให้แก่บรรดาผู้ที่รู้จักมักคุ้นเมื่อตอนผมมีอายุครบ 5 รอบ เมื่อปี 2558
ก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนบทความแต่ละช่วงเวลาที่มีผลกระทบในเรื่องกฎหมายเศรษฐกิจ
เช่น ปี 2521 ที่มีการปฏิวัติ และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีการพัฒนาประเทศด้าน
Eastern
Seaboard ปี 2535
ช่วง นายกฯอานันท์ ปันยารชุน ที่มีการออกกฎหมายหลายฉบับด้านเศรษฐกิจ ช่วง ปี 2540 วิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลไทย ถูก IMF บังคับให้มีการตรากฎหมายหลายฉบับทีมีคนกล่าวว่าเป็น
กฎหมายขายชาติ และเป็นช่วงที่ผมได้นำมาเขียนบทความมากที่สุด
ผมอยากจะนำสุนทรพจน์ ที่ผมได้บรรยายให้กับบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ในโอกาสที่ผมได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเมื่อปี
2562 โดยได้ปรับปรุงแก้ไขสูตรสำเร็จ 10 ประการ ของบัณฑิตที่กฎหมายที่ประสบความสำเร็จ
เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านได้บ้างครับ
ในโอกาสที่ผมจะกล่าวสุนทรพจน์แก่บัณฑิตในวันนี้นั้น
ทำให้ผมนึกถึงประสบการณ์ของการกล่าวสุนทรพจน์ของมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีประเพณีในการเชิญผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
หรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของแต่ละอาชีพ ที่เคยผ่านทั้งช่วงเวลาแห่งความล้มเหลว
ผิดหวัง พลาดพลั้ง และเป็นบุคคลที่สามารถต่อสู้ อดทน จนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
เพื่อให้บัณฑิตได้มาเป็นข้อคิดในการแนะแนว หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับบัณฑิต โดยอาจถือได้ว่าสุนทรพจน์จากผู้มีประสบการณ์เหล่านี้คือคำแนะนำที่ดีที่สุดก่อนจบการศึกษา
ผมจำได้ว่า ผมได้เคยอ่านหนังสือแปลชื่อ "วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน"
โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล มานานแล้ว พอทราบว่าจะต้องมีกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้
ผมจึงไปหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 32 ของสำนักพิมพ์ Openbooks เป็นการอ่านอีกรอบ หนังสือเล่มนี้มีสุนทรพจน์จำนวน
22 เรื่อง โดยมีผู้กล่าวสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกไม่ว่าจะเป็น
Steve Jobs ผู้คิดค้น Apple JK Rolings ผู้เขียนหนังสือ Harry Porter Bill
Gates เจ้าของ Microsoft และบุคคลอื่นๆ
อีก ผมเข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ไปเป็นของขวัญให้กับบัณฑิตในหลายมหาวิทยาลัยในวันรับปริญญา
ผมไม่ทราบว่าในวันนี้บัณฑิตมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ท่านใดที่ได้รับหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญบ้าง
หากท่านไม่ได้รับ ผมก็อยากแนะนำให้ท่านไปอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ
สิ่งที่สรุปได้จากหนังสือเล่มนี้คือผู้กล่าวสุนทรพจน์มักจะกล่าวถึงการเรียนรู้
ชีวิตและตัวตน จิตสำนึก และความสำเร็จในหลายบท โดยมักจะพูดถึงเรื่องความสุข การให้
และการคิดถึงส่วนรวมด้วย สุนทรพจน์ของผมในวันนี้คงจะไม่ดีเท่ายอดเยี่ยมเท่ากับสุนทรพจน์ของผู้กล่าวในหนังสือ
วิชาสุดท้ายที่ไม่ได้สอนในมหาวิทยาลัย
หลายท่านอาจกล่าวว่า ผมสามารถประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพและวิชาการ จากเด็กบ้านนอกในอำเภอเบตง ก้าวเข้ามาเป็นประธานกรรมการบริษัทกฎหมายที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ได้รับการโปรดเกล้าฯทางวิชาการให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในคณะทำงานเพื่อส่วนรวมในภาคราชการและเอกชนอย่างต่อเนื่องหลายตำแหน่ง แต่ความจริงแล้ว ความสำเร็จหรือตำแหน่งเหล่านี้ ไม่ควรจะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จเพราะตำแหน่งเหล่านี้ก็เปรียบเหมือนหัวโขน ไม่จิรังยั่งยืน เป็นโลกธรรม ดังคำที่ว่า "มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา" ส่วนที่น่าจะเป็นเครื่องวัดความสำเร็จคือ ผมได้ทำอะไรให้กับส่วนรวมบ้าง
สูตรสำเร็จ 10
ประการของการจะเป็นบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จ
ผมจะให้เป็นสูตรสำเร็จ 10 ข้อ
จากประสบการณ์ของผมเองเพื่อที่ท่านที่เป็นบัณฑิตจะได้นำไปครุ่นคิด วางแผน หรือเป็นแรงบันดาลใจในการที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอด
แข็งแรง มั่นคง และประสบความสำเร็จโดยเป็น 10 สูตรความสำเร็จของการเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
(เพราะผมได้เขียนหนังสือ สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย)
1.ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ด้วยการอ่านศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในทุกแขนงที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและวิชาการใหม่ๆ
เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองตลอดเวลา
การอ่านจะทำให้เรามีความรู้และยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ผมขอแนะนำให้บัณฑิตได้อ่านหนังสือ
"ปัญญาวิชาชีวิต" หรือ "How will you
measure your life?" โดย Clayton M.
Christensen เรียบเรียงโดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา หนังสือเล่มนี้ได้ช่วยเปลี่ยนแนวคิดของบุคคลที่ผมรู้จักจากการแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้หลายคน
นี่คือข้อความบางตอนของหนังสือเล่มนี้
"การไม่ใส่ใจ ไม่ปรับปรุง ไม่เปลี่ยนแปลง ประมาทและปรามาสผู้เล่นรายใหม่
จึงเป็นหนทางสู่ความวิบัติทั้งธุรกิจและชีวิต"
"การหยุดตัวเองไว้ที่ความรู้เก่า ประสบการณ์เก่า
โดยไม่แสวงหาความรู้ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป็นหนทางอันเรียบง่าย
ที่จะเดินเข้าสู่หายนะเบื้องหน้า"
สำหรับผมเอง ผมเชื่อว่า การเป็นนักอ่านตั้งแต่เด็กๆ
เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ผมได้ก้าวมายืนในวันนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นทนายความ
ครูบาอาจารย์ และนักเขียน ผลงานเหล่านี้มาจากการเป็นนักอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กๆ แม้ปัจจุบันผมยังคงเป็นนักอ่านและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ตลอดเวลา
ผมคิดว่าบัณฑิตทุกท่านควรฝึกเป็นนักอ่าน ค้นคว้า โดยอาจใช้ Social Media
เป็นเครื่องมือในการพัฒนาหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
2.รู้ว่าวิธีแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญปัญหา ทุกคนในชีวิตต้องเจอกับปัญหา
เมื่อมองเห็นปัญหา ก็ต้องหาวิธีในการแก้ไขปัญหาโดยการกำหนดเป้าหมาย
หาวิธีแก้ไขไม่ว่าจะใช้ความรู้ หรือเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อเจอปัญหา
เราควรจะหาว่า เราควรจะคิดอย่างไร (How to think)
มากกว่าควรคิดอะไร (What to think) เพราะจะทำให้เราเข้าใจ
เข้าถึง และหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหา จะทำให้ตัดสินใจได้ถูกต้อง เนื่องจากในชีวิตของนักกฎหมาย
ผมต้องแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา การมีความรู้จะทำให้เรารู้ว่า
เราควรจะคิดอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่เราต้องเจอและหากใช้วิธีการคิดอย่างไร เราก็จะหาทางออกและทางเลือกที่ดีของปัญหาได้เสมอ
3.ต้องมีความรักในหน้าที่การงานที่ทำ หรือ Passion
ที่ตนเองทำงาน โดยทำงานได้รับมอบหมายอย่างเต็มสติกำลัง
และทำงานทุกอย่างในปัจจุบันให้ดีที่สุด ความสำเร็จที่สำคัญของผม ผมเชื่อว่าเกิดจากข้อนี้จริงๆ
เพราะเมื่อผมได้เรียนกฎหมาย และทำงานเป็นนักกฎหมาย ผมรู้ทันทีว่า
นี่คือสิ่งที่ผมชอบและรักที่สุด ดังนั้น
จงรีบค้นหาตัวตนและความรักในการเรียนและงานที่ทำให้พบโดยเร็ว
ผมขอยกคำกล่าวของ Steve Jobs (จากหนังสือปัญญาวิชาชีวิต) ว่า
"หนทางหนึ่งเดียวสู่ความสุขใจจริง
คือได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อว่ายิ่งใหญ่
หนทางหนึ่งเดียวสู่การสร้างงานยิ่งใหญ่
คือความรักปักใจในงานนั้น
ถ้ายังไม่พบ จงค้นต่อไป จงอย่าถอดใจ
คุณจะรู้ได้หมดจิตหมดใจ เมื่อคุณได้ค้นพบมัน"
ความยากคือทุกคนในชีวิตไม่สามารถเรียนและทำงานในสิ่งที่ชอบได้ทุกคน
ดังนั้น ท่านอาจต้องใช้เวลาค้นหาตัวตน หากมีงานที่ไม่ชอบ ต้องทำให้ชอบให้ได้ถ้ามุ่งหวังความสำเร็จ
4.หากประสบความผิดหวังในเรื่องใดๆ ก็อย่าได้ท้อถอยหรือยอมแพ้อย่างง่ายดาย ท่านต้องมีความอดทน และแก้ไข อย่างมีสติ
ผมเคยผิดหวังมากมายในการสอบ การทำงาน ผมอาจท้อแท้บ้าง แต่ไม่เคยท้อถอย
ทุกคนในโลกนี้ต้องประสบความผิดหวังหรือความทุกข์ แต่ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งในการเผชิญกับความผิดหวังและแก้ไข
Winston Churchill
ได้กล่าวไว้กับนักเรียน Harrow ว่า
"จงอย่ายอมแพ้ อย่ายอมแพ้
อย่ายอม อย่ายอม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญหรือเรื่องเล็กน้อย
เรื่องใหญ่หรือเรื่องขี้ผง
อย่ายอมแพ้
ยกเว้นต่อสำนึกในศักดิ์ศรี
และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี"
การปฏิบัติธรรมและการศึกษาธรรมที่ผ่านมาของผม เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยทำให้ผมเผชิญกับความผิดหวังได้ค่อนข้างดี
5.การวัดความสำเร็จของชีวิต
ไม่ใช่วัดจากความร่ำรวย อำนาจ ฐานะทางสังคม แต่ควรวัดความสำเร็จของชีวิตจากการที่ว่า
เรามี
1. ชีวิตมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ศึกษา
2. มีความรับผิดชอบ
3. ทำงานเพื่อส่วนรวม
4. และงานเพื่อส่วนรวม นั่นเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป
ความสำเร็จของผมมาพร้อมกับการเตรียมตัว
ความพร้อมในความรู้และโอกาส ผมได้รับโอกาสที่ดีที่สุดตอนที่เกิดวิกฤติ 2540
ที่ได้เตรียมศึกษาเรื่องกฎหมายการปรับโครงสร้าง เมื่อโอกาสและจังหวะมาถึง เพราะมีประสบการณ์ที่เหมาะสม
ความสำเร็จจึงตามมา ผมคิดว่าบทบาทหน้าที่ของผมครบถ้วน 4 อย่าง โดยเฉพาะการทำงานในฐานะครูบาอาจารย์
และบทบาทใน บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ทำเรื่องการจากไปอย่างมีคุณภาพ
ในตอนหน้าผมจะนำสูตรสำเร็จที่เหลืออีก 5 ข้อมาให้อ่านกันต่อนะครับ