ONLINE MAGAZINE

ดูไบ : แหล่งหลบภัยเศรษฐีรัสเซีย

บทความโดย: Admin

“ดูไบ ค่าเงิน Dirham มั่นคง ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะก็มีสัดส่วนอยู่ในอัตราไม่น่าวิตก ราว 32% ของ GDP ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะไม่เกิน 4% ในปีนี้ อีกทั้ง ระบบการธนาคารก็อยู่ในสภาพแข็งแรง เงินกองทุนของแบงก์แน่นหนา เสน่ห์ที่สำคัญสุด ได้แก่ พวกระบบภาษี อาทิ อัตราภาษีเงินได้อยู่ที่ 0% ฯลฯ”

คงไม่ปฏิเสธว่า ปีเก่าที่ผ่านพ้นไป สร้างทั้งรอยยิ้มและน้ำตาให้แก่นานาประเทศแตกต่างกัน สาเหตุสำคัญที่สุดมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วทุกหัวระแหง โดยเฉพาะกรณีพลังงาน ที่ก่อให้เกิดวิกฤติราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพงลิบลิ่วในหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ ที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ กลุ่มประเทศยุโรป ชีช้ำกันสุดๆ เพราะคุ้นเคยกับการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อทะเลาะกัน จนถึงขั้นที่ฝ่ายยุโรปงัดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบมาใช้เล่นงานเมืองหมี ซึ่งรวมถึงการงดและชะลอการนำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย

ผลลัพธ์ที่เห็นๆ ก็คือ ยุโรปสะบักสะบอมจากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศถีบตัวสูง เดือนร้อนกันไปหมดทั้งครัวเรือนและธุรกิจ ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจยุโรป ไม่ต้องเดาให้เสียเวลา ยังไงๆ ก็จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผสมผสานกับเงินเฟ้อสูงในรอบทศวรรษ

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่แฮปปี้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น กลุ่มประเทศที่ผลิตและส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะประเทศย่านตะวันออกกลางที่ถือว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเก่าแก่ของโลก นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า หากวิกฤติพลังงานโลกยังยืดเยื้อ โดยราคาทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปเรื่อยๆ พวกชาติตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกลุ่ม Gulf ที่ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บาห์เรน คูเวต และ โอมาน น่าจะโกยรายได้จากการค้าขายพลังงานเป็นเม็ดเงินรวมกันราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

หากไม่ต้องมองไกลมากนัก เอาแค่ช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน พวกชาติอาหรับก็รับทรัพย์กันอู้ฟู่ กระตุ้นเศรษฐกิจคึกคักกันเป็นแถว อย่างพี่เบิ้มซาอุดีอาระเบีย คาดว่า เศรษฐกิจปี 2022 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 7.6% นับว่าเป็นอัตราสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม Gulf ก็รับส้มหล่นไม่แตกต่างกันมากนัก บางประเทศก็ใช้ลดหนี้สินสาธารณะ บางประเทศก็ใช้เติมในกองทุนแห่งความมั่งคั่ง (Sovereign-Wealth Funds) เพื่ออนาคตลูกหลาน แล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละชาติ แม้แต่อิรัก หนึ่งในสมาชิกโอเปก ที่ประเทศยังยับเยินจากพิษความไม่สงบในประเทศ ก็ได้หายใจโล่งอกเช่นกัน เมื่อมีรายได้จากการขายน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ช่วยประทังความเป็นอยู่ของพลเมืองในดินแดนอาภัพแห่งนี้

ประเทศที่น่าสนใจมากสุดในกลุ่มตะวันออกกลางก็คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ เรียกสั้นๆ ว่า ยูเออี โดยเฉพาะ ดูไบ ที่เป็นหนึ่งใน 7 รัฐที่ประกอบกันเป็นชาติยูเออี (ส่วนอีก 6 รัฐที่เหลือ ได้แก่ อาบูดาบี อัจมาน ฟูไจราห์ ราสอัลไคมาห์ ชาร์จาห์ และ อุมม์อัลไกไวน์)

ดูไบ เป็นรัฐที่มีหัวทางธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างหาตัวจับยาก อาจเป็นเพราะเป็นรัฐที่ไม่ได้มีน้ำมันเป็นกอบเป็นกำ เหมือนรัฐอื่นๆ ในยูเออี จึงต้องขวนขวายหากินทุกรูปแบบ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ ด้วยเหตุนี้ ดูไบ จึงไม่ได้หาผลประโยชน์จากราคาพลังงานสูงเท่านั้น แต่ยังสร้างเม็ดเงินจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่พวกชาติตะวันตกมีต่อรัสเซียด้วย ทำให้เศรษฐกิจดูไบเฟื่องฟูท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน เห็นได้จากตลาดหุ้นดูไบสดใส ดัชนีเพิ่มขึ้นกว่า 9% ในรอบ 9 เดือนปีนี้ เทียบกับตลาดซาอุดิอาระเบียเพิ่มเช่นกัน แต่ก็เพียง 2%

ก่อนสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน ดูไบก็เริ่มมีบทบาทในฐานะศูนย์กลางการเงินแห่งหนึ่งของโลกบ้างแล้ว ยิ่งเกิดความไม่สงบในภูมิภาคต่างๆ มีการแบ่งขั้วทางการเมืองมากเท่าไหร่ ดูไบดูเหมือนจะกลายเป็นขวัญใจของนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้นเท่านั้น เพราะภาพลักษณ์ที่ไม่ยุ่งการเมือง มุ่งแต่ธุรกิจล้วนๆ ทำให้ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำมาหากินในดูไบ

ฐานะการเป็นศูนย์กลางการเงินสำคัญของดูไบ โดดเด่นในระยะนี้ เมื่อคู่แข่งบางรายเงียบเหงาลง เช่น ฮ่องกง ที่ต้องหายใจด้วยจมูกของจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้สภาพเศรษฐกิจอ่อนล้า ในปี 2022 เศรษฐกิจรายไตรมาสหดตัว 3 ไตรมาสต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นสุดปีนี้ เศรษฐกิจฮ่องกงคงเจอพิษถดถอย -3.2% นอกจากนี้ กูรูบางคน ยังชี้ว่า ความจริงตลาดฮ่องกงควรรับอานิสงส์จากเม็ดเงินของเศรษฐีรัสเซีย เพราะจีนไม่ได้คว่ำบาตรเมืองหมี แต่ยังไงๆ พวกมะกันก็ไม่ยอมปล่อยให้ฮ่องกงลอยนวล จึงพยายามขู่เป็นระยะๆ จนฮ่องกงไม่สามารถรับเม็ดเงินลงทุนจากเศรษฐีรัสเซียได้เต็มที่

ส่วนตลาดลอนดอน ก็กำลังเป็นยาหมดอายุเข้าไปทุกวัน หลังจากที่ออกจากอียู หรือ Brexit แถม อังกฤษยังประกาศคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซียอย่างแข็งกร้าว จึงเดาไม่ยากว่า เงินทุนของเศรษฐีเมืองวอดก้า จะเผ่นหนีออกจากเมืองผู้ดี ไปยังตลาดดูไบกันคับคั่ง

หลักฐานที่สะท้อนว่าดูไบ กลายเป็นสวรรค์ของนักธุรกิจและคนรวยรัสเซีย ก็คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ ที่เฟื่องฟูอย่างมาก แค่ช่วงครึ่งแรกของปี 2022 ชาวหมีซื้อบ้านในดูไบเพิ่มกว่า 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมากกว่าจำนวนทั้งปีของ 2021 จนทำให้กลุ่มชาวรัสเซียกลายเป็นผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์กลุ่มใหญ่เป็นอันดับ 4 ของดูไบ กระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 9 ทั้งนี้ นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ของดูไบ บอกว่าการซื้อขายกับชาวรัสเซียไม่มีปัญหา แค่มีตู้ ATM ในออฟฟิศ เพื่อให้ลูกค้าเมืองวอดก้าโอนเงินให้บริษัท ก็ปิดดิลสำเร็จทุกราย นอกจากนี้ ดูไบ ยังอำนวยความสะดวกให้บรรดาเศรษฐีรัสเซีย สามารถจอดเรือยอร์ชและเครื่องบินส่วนตัวในดูไบได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกลัวโดนยึดจากทางการสหรัฐฯ

นอกจากนี้ บริษัทรัสเซียและบริษัทต่างชาติที่เคยทำธุรกิจในเมืองหมี ก็โยกย้ายมาปักหลักที่ดูไบกันเป็นจำนวน เช่น ธนาคารชั้นนำ Goldman Sachs และ Bank of America เป็นต้น รวมถึง บริษัทค้าสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นชาติที่คว่ำบาตรรัสเซีย แต่บริษัทสวิสหาทางทำธุรกิจกับรัสเซียต่อไป ด้วยการย้ายธุรกิจบางส่วนมายังดูไบ

การที่ดูไบ ยังติดต่อค้าขายหรือต้อนรับเศรษฐีรัสเซียได้อย่างสบายใจ เป็นเพราะประเทศยูเออี ได้พยายามแสดงจุดยืนว่าเป็นกลางในกรณีรัสเซีย-ยูเครน ทั้งๆ ที่ยูเอยี เป็นพันธมิตรเก่าแก่กับชาติตะวันตก แต่ไม่ได้ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย

ความจริง มีหลายประเทศที่ไม่ได้รังเกียจรัสเซียในยามลำบากจากมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ ตุรกี แต่บังเอิญมีจุดอ่อนที่นักธุรกิจรัสเซีย อาจหายใจไม่ค่อยทั่วท้อง ได้แก่ ค่าเงิน lira ที่ผันผวนตกต่ำอย่างหนัก และ เงินเฟ้อรุนแรงสูงกว่า 50% เป็นต้น

 ขณะที่ดูไบ ค่าเงิน Dirham มั่นคง ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หนี้สาธารณะก็มีสัดส่วนอยู่ในอัตราไม่น่าวิตก ราว 32% ของ GDP ส่วนอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะไม่เกิน 4% ในปีนี้ อีกทั้ง ระบบการธนาคารก็อยู่ในสภาพแข็งแรง เงินกองทุนของแบงก์แน่นหนา เสน่ห์ที่สำคัญสุด ได้แก่ พวกระบบภาษี อาทิ อัตราภาษีเงินได้อยู่ที่ 0% ฯลฯ นอกจากนี้ ดูไบ ยังมีสภาพแวดล้อมของบ้านเมืองที่น่าอยู่น่าเที่ยวมากมาย สามารถปรนเปรอพวกเศรษฐีต่างชาติได้อย่างเต็มที่ สารพัดรูปแบบ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ได้มีแค่กลุ่มเศรษฐีหรือนักธุรกิจรัสเซียเท่านั้นที่มาชุมนุมกันที่ดูไบ แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั้งจากเอเชียและแอฟริกา โดยเฉพาะนักธุรกิจอินเดีย ที่นิยมทำมาค้าขายในดูไบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยระบุว่า ระยะทางการบินระหว่างเมืองธุรกิจบุมไบของอินเดียกับดูไบ ใช้เวลาน้อยกว่ามุมไบกับสิงคโปร์ ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่กลุ่มธุรกิจสีเทาหรือธุรกิจมืดของบางประเทศ ก็ยังมาใช้บริการพักพิงที่ดูไบ เช่น กลุ่มหัวรุนแรงอิหร่าน และพ่อค้ามาเฟียในยุโรป เป็นต้น ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ดูไบจะพยายามกำราบกวาดล้างก็ตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่า พฤติกรรมการดำเนินธุรกิจของดูไบ น่าจะขัดหูขัดตาพวกชาติตะวันตกไม่น้อย ส่งผลให้องค์กรต่อต้านการฟอกเงินสกปรกของโลก The Financial Action Task Force ได้ขึ้นบัญชี “สีเทา” แก่ชาติยูเออี เมื่อกลางปี 2022 แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีผลกระทบต่อธุรกิจในดูไบมากนัก ลูกค้าต่างชาติที่มาค้าขายล้วนตระหนักถึงความเสี่ยงกรณีพวกนี้ล่วงหน้าบ้างแล้ว และ การลงโทษก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

แม้แต่ท่าทีของสหรัฐฯ ที่ควรจะน่ากลัวกว่า ก็ยังไม่ได้ทำอะไรที่สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประเทศยูเออี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯได้เดินทางมาตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็แค่ตักเตือนบางกรณีที่ไม่ค่อยสำคัญ และส่วนใหญ่เกี่ยวกับอิหร่าน ไม่ใช่รัสเซีย

กูรูต่างประเทศมองว่า สหรัฐฯอาจยังเกรงใจยูเออี เพราะเป็นมิตรเก่าแก่ในตะวันออกกลาง และที่สำคัญก็คือ ยูเออีได้สร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอลแล้ว ทำให้สหรัฐฯรู้สึกไม่อยากกวนน้ำให้ขุ่น ทางด้านดูไบ ก็พยายามสร้างความสบายใจให้ชาติตะวันตก โดยชี้แจงว่าได้กำชับให้สถาบันการเงินกวดขันพวกธุรกิจที่มาจากรัสเซีย แต่ขอโทษ ลือกันว่า หากเม็ดเงินธุรกิจเกิน 10 ล้านดอลลาร์ เจ้าหน้าที่แบงก์ก็มองไม่เห็นข้อพิรุธอะไรทั้งนั้น นี่แหละจุดแข็งดูไบ!!