ONLINE MAGAZINE

บริษัทไฮเทคสหรัฐฯปลดพนักงาน 60,000 คน

บทความโดย: Admin

รายงานข่าวของสำนักข่าวชั้นนำ ทยอยระบุความเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทไฮเทคชั้นนำสหรัฐฯที่ประกาศปลดพนักงานกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ไม่สดใสทั่วหน้า ประกอบกับ สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเผชิญภาวะซบเซาในปีหน้า ก็ยิ่งกดดันให้บริษัทไฮเทคต้องดำเนินมาตรการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในปี 2023 และพยายามลดค่าใช้จ่ายของบริษัทอย่างจริงจังตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

มาตรการแรกที่บริษัทไฮเทคสหรัฐฯเริ่มดำเนินการก็คือ การลดจำนวนพนักงานลง ยกตัวอย่าง อาทิ บริษัท Meta Platform Inc ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Facebook, Instagram, WhatsApp และ Messenger ประกาศลดพนักงานมากกว่า 11,000 คน หรือราว 13% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ขณะที่ Amazon.com Inc ก็มีแผนเลิกจ้างพนักงานประมาณ 10,000 คน หรือ ราว 3% ของพนักงานทั้งหมด

อีกทั้ง บริษัท Twitter ซึ่งเพิ่งได้เจ้าของคนใหม่ Elon Musk ก็ไม่รีรอใช้มาตรการโละพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัททันที รวมถึง บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน Stripe ประกาศลดพนักงาน 14% หรือราว 1,100 คน ส่วนบริษัทไฮเทคด้านขนส่ง Lyft ลดพนักงานลง 13% จากจำนวนทั้งหมด 5,000 คน และ บริษัท Snap ที่ดำเนินงาน Robinhood และ Coinbase ก็ประกาศว่าจะปลดพนักงานภายในปี 2022

สถานการณ์ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการเลิกจ้างพนักงานไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ จากการประเมินของ Crunchbase ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและรวบรวมข้อมูล ระบุว่า บริษัทไฮเทคสหรัฐฯจะปลดพนักงานรวมกันทั้งสิ้นมากกว่า 60,000 คน ภายในปี 2022

นักวิเคราะห์แสดงความคิดเห็นว่า บริษัทไฮเทคชั้นนำสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Big Five ได้แก่ Alphabet (Google), Amazon, Apple, Meta และ Microsoft ล้วนเป็นพลังขับเคลื่อนตลาดหลักทรัพย์และเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เฟื่องฟูตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของกิจการและผลประกอบการที่น่าพอใจ

แต่เหตุการณ์ได้แปรเปลี่ยนรวดเร็ว หลังจากผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2022 ทรุดต่ำลง และ มีผลกระทบให้ราคาหุ้นของบริษัทดำดิ่งลงตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าหุ้นในตลาดของ Big Five รวมกันหดหายไปกว่า 37% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ Meta ซึ่งเคยมีมูลค่าหุ้นในตลาดเหนือระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อกันยายน 2021 แต่กลับร่วงลงเหลือราว 260,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากมูลค่าหุ้นทรุดลงกว่า 70% จากต้นปี ส่วน Amazon ก็เผชิญวิกฤติมูลค่าหุ้นร่วงลงต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกเช่นกัน นับตั้งแต่มูลค่าหุ้นของบริษัททำสถิติเมื่อปี 2020

นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ซบเซาในกลุ่มธุรกิจไฮเทค โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ กล่าวคือ ความต้องการสินค้ากลุ่มไฮเทคเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายออนไลน์ หรือโทรศัพท์มือ หรือการใช้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่เฟื่องฟูในช่วงโควิด แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ความต้องการเหล่านั้นก็ลดลง ประกอบกับ เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการดำเนินงานสูง ส่งผลให้ทั้งผู้บริโภคและบริษัทโฆษณาต่างต้องรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายลงอย่างจริงจัง จึงมีผลกระทบต่อรายได้ของกลุ่มไฮเทคที่ให้บริการต่างๆ ทั้งหมด

ขณะที่ยอดรายได้เริ่มสั่นคลอน แต่ยอดการใช้จ่ายของกลุ่มบริษัทไฮเทคกลับเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการขยายกิจการในช่วงที่เห็นว่าธุรกิจกำลังสดใสก่อนหน้านี้ จึงมีการจ้างงานจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนในโครงการต่างๆ เป็นต้น ประเมินกันว่า เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2022 กลุ่ม Big Five มียอดค่าใช้จ่ายรวมกันในรอบ 12 เดือนแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก เมื่อการใช้จ่ายและการลงทุนขยายตัวรวดเร็ว ท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนที่เคยสูงเฉลี่ยกว่า 60% เมื่อ 5 ปีก่อน ลดลงเหลือราว 26% เท่านั้น ส่งผลให้บางบริษัทต้องงดการจ่ายเงินปันผล

สถานการณ์หวั่นไหวของธุรกิจไฮเทคสหรัฐฯขณะนี้ ได้เคยเกิดขึ้นกับกิจการชั้นแนวหน้าอื่นๆ ของประเทศมาแล้ว เช่น RJR Nabisco และ General Electric ฯลฯ ในช่วงหลายสิบปีก่อน และได้สะท้อนบทเรียนที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การใช้จ่ายและการลงทุนที่เกินตัว ปราศจากการกำกับดูแลจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นอย่างรอบคอบ เมื่อผู้บริหารบริษัทมีอำนาจเด็ดขาด ประกอบกับความมั่นใจสูง ก็มักจะเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ง่าย จึงควรมีคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น คอยถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบ

โครงสร้างการบริหารงานบางบริษัทมักเปิดช่องทางให้ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ก่อตั้งกิจการมีอำนาจเกิน 50% ของจำนวนหุ้นที่ออกเสียง จึงทำให้การตัดสินใจรวมศูนย์อยู่กับบุคคลนั้นๆ เป็นสำคัญ เช่น Meta ปรากฏว่า CEO Mark Zuckerberg มีหุ้นออกเสียง 54% จึงกลายเป็นบริษัทที่เผชิญวิกฤติเลวร้ายสุดในบรรดา Big Five โดยนาย Zuckerberg ได้ออกมายอมรับความผิดพลาดของตนในการตัดสินใจทุ่มการลงทุนในสายงาน Metaverse มากเกินไป ทำให้กิจการขาดทุนจำนวนมาก และคาดว่าจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องในปีหน้าด้วย ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุให้ต้องปลดพนักงานจำนวนมาก รวมถึงมาตรการอื่นๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ได้แก่ การลดพื้นที่ใช้งานของออฟฟิศ และการขายสำนักงานบางแห่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นต้น

นักวิเคราะห์ได้ให้ข้อสังเกตว่า บริษัท Apple และ Microsoft ค่อนข้างประคองตัวได้ดีพอสมควรในกลุ่ม Big Five เป็นผลมาจากผู้ก่อตั้งของบริษัทไม่ได้มีสิทธิ์ออกเสียงเหนือกว่าผู้ถือหุ้นอื่นๆ และรับฟังเสียงผู้ถือหุ้นและนักลงทุนอย่างเต็มที่ จึงทำให้การตัดสินใจต่างๆของบริษัท ได้รับการกำกับดูแลจากหลายฝ่าย ช่วยลดความผิดพลาด เมื่อเทียบกับบริษัทไฮเทคชั้นนำอื่นๆ