“กัญชา” ยาดีที่ต้องรู้ทัน
ข้อดีของกัญชาที่มากมาย แต่ก็มีสิ่งที่เป็นผลกระทบ โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ต่างจากยาที่ต้องมีองค์ความรู้
สวัสดีค่ะ ช่วงนี้กระแสกัญชากลับมาอีกรอบหลังจากปลดล็อกการเป็นสารเสพติดประเภทที่ 5 อนุญาตให้ผสมในอาหารเพื่อจำหน่าย เป็นที่กว้างขวางมากขึ้น ทำให้ทุกวงการตื่นตัว โดยเฉพาะวงการแพทย์ เพราะการที่มีผลิตภัณฑ์กัญชาออกมาทุกรูปแบบ ราวกับเป็นยาวิเศษครอบจักรวาล อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าหมอท่านนั้นจะชอบใช้กัญชาหรือไม่ชอบใช้กัญชาในการรักษาก็ตาม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ไว้เพราะจะมีผู้ป่วยมาปรึกษาเกี่ยวกับกัญชาหลายรูปแบบแน่นอน เช่นเดียวกับทุกท่านที่อาจเป็นผู้บริโภคแบบไม่ได้ตั้งใจ หรือกำลังหาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพที่ไม่สามารถหาทางออกได้โดยวิธีเดิม
แล้วอย่างนี้หมอเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กัญชา ?
ในทางการแพทย์หมอเห็นข้อดีหลายอย่าง ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไข้มะเร็งที่ตอบสนองต่อการใช้สารสกัดกัญชา (CBD) เพราะช่วยให้คนไข้นอนหลับดี คลายความกังวลจากโรคที่เป็นอยู่ ส่งผลให้ทานข้าวได้ ลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้อาเจียน ที่สำคัญ อารมณ์ดีไม่ตึงเครียด เท่านี้ก็ทำให้การรักษาราบรื่น อัตราการหายก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ได้ใช้กัญชาทางการแพทย์จะตอบสนองต่อยาน้อยกว่าแต่อย่างใด
เพราะร่างกายเรามีระบบกัญชาตามธรรมชาติ (Endocannabinoid) อยู่แล้ว ซึ่งสามารถเพิ่มได้โดยการออกกำลังกายระดับ Moderate Exercise ที่ช่วยเพิ่มสาร Anandamide ทำให้จิตใจผ่อนคลายไม่เครียด โดยระบบกัญชาในร่างกายนี้มีผลควบคุมการปวด ความอยากอาหาร อาการคลื่นไส้อาเจียน การนอนหลับ การรับความรู้สึก อารมณ์ความกังวล การชัก การทรงตัว ความคิด ความจำการตัดสินใจ ภูมิต้านทานและอื่นๆ อีกมากมาย เพราะตัวรับ (Receptor) CB1 CB2 กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เลยทำให้กัญชาเหมือนเป็นยาครอบจักรวาลเพราะมีผลต่อร่างกายหลายระบบนั่นเอง
นอกจากมะเร็งแล้ว กลุ่มโรคที่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์คือ
• โรคลมชักที่รักษายาก ดื้อต่อยารักษา
• ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่เป็นผล
• โรคกล้ามเนื้อหดเกร็งในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
• ภาวะปวดประสาท ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล
นอกจากนี้ ได้มีการนำกัญชาทางการแพทย์มารักษากลุ่มโรค พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ที่มีอาการสั่น มีงานวิจัยที่ได้ผลลดอาการปวด (43.9%) ลดตะคริวที่กล้ามเนื้อ (41.4%) และมากกว่า 20% รายงานการบรรเทาอาการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ ช่วยให้คนดูแล ดูแลง่ายขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดี
แต่การใช้กัญชาก็มีจุดที่เราต้องรู้คือ
• ต้องรู้ว่าหากอายุน้อยกว่า 25 ปี อย่าใช้ช่อดอกกัญชาหรือสาร THC เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหาต่อการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทางสมอง โดยเฉพาะด้านการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งพบว่า หากมีการเสื่อมแล้ว แม้หยุดกัญชานานเป็นปีก็ไม่อาจคืนกลับเป็นปกติ (ส่วนทักษะทางภาษาและความจำระยะสั้นสามารถกลับคืนเมื่อหยุดเสพกัญชาได้) มีงานวิจัยที่ติดตามนักเรียนมัธยมมีโอกาสเรียนจบช้ากว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้
• ต้องรู้ว่ากัญชาไม่มีขนาดยาเริ่มต้นที่แน่นอน ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคน จึงควรเริ่มทีละน้อย ปรับโดสแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าใจร้อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
• ต้องรู้ว่ากัญชารบกวนการออกฤทธิ์ของยาหลายตัวในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ และยาต้านการแข็งตัวของเลือด
• ต้องรู้ว่าก่อนใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องมีการตรวจเลือดการทำงานของไตและตับและเอกซเรย์ปอดก่อนเริ่มใช้ทุกคน ผู้ป่วยโรคตับควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
• ต้องรู้ว่าการสูบกัญชาแบบเผาไหม้ หรือแบบบุหรี่ไฟฟ้าล้วนเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจและเยื่อบุได้ ทำให้รบกวนผู้อื่น และสุขภาพของผู้สูบเอง
• ต้องรู้ว่ากัญชาเป็นหนทางไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดรุนแรงอื่นๆ หากใช้อย่างไม่รู้เท่าทัน ไม่มีการควบคุม ใช้ในวัยรุ่นที่ขาดการยั้งคิด อยากลองโดยคึกคะนอง ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
• ต้องรู้ว่ากัญชาทำให้เกิดอาการง่วงซึม มึน งง จึงไม่ควรขับรถ เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 4 เท่า
• ต้องรู้ว่า แม้ใบกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก ก็ยังมีสาร THC อยู่แต่ปริมาณน้อยกว่า ไม่ควรกินเกิน 15-20 ใบ เพราะอาจทำให้มึนเมาได้
ในข้อดีที่มากมาย แต่ก็มีสิ่งที่เป็นผลกระทบ โปรดใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ต่างจากยาที่ต้องมีองค์ความรู้นะคะ ด้วยรักและปรารถนาดีค่ะ
พญ.กอบกาญจน์ ชุณหสวัสดิกุล (หมออ้อม)
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการทางการแพทย์ศูนย์สุขภาพ Jin Wellness Center เป็นผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ป้องกันที่มีความชำนาญพิเศษด้าน Nutritional wellness & Integrative medicine กว่า 20ปี จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิตโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งได้รับประกาศนียบัตรและการฝึกอบรมด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน อาทิ
• Advance training course in Acupuncture and Traditional Chinese Medicine, China, 2006 The American Board Certified in Nutrition Wellness, (CNW), USA, 2017
• Training in Anthroposophy Training (IPMT program) from Switzerland, 2010-2019
• Pressel Massage training, 2014
• Regenerative medicine: new approach in hormonal treatment Symposium (WOSAAM), 2016
• Advanced Nutrition for wellness, IFNW, Thailand, 2017
• Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 2, USA
Integrative Functional Nutrition/Functional Foods for Chronic Disease Module 1, USA, 2018
• Thai Traditional Therapeutic Massage and Thai Traditional Pharmacy Accredited and Certified by The Union of Thai Traditional Medicine Society, Ministry of Public Health