HEALTH&WELLNESS

HEALTH&WELLNESS • HEALTH&WELLNESS

หมดความกังวลเมื่อต้องผ่าตัดมะเร็งเต้านม ด้วย 2 เทคนิคการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง

“ มะเร็งเต้านม ” เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้เมื่อตรวจพบในระยะเริ่มแรก แต่หากมีการตรวจพบในระยะอื่น ๆ ใช่ว่าจะไม่มีทางรักษา เพราะปัจจุบันการผ่าตัดรักษามะเร็งมีหลายแนวทาง ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น 

แพทย์หญิงรับพร สุขพานิช ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยาและโรคของเต้านม โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โดยทั่วไปเมื่อได้รับการตรวจเต้านมด้วยการทำดิจิตอลแมมโมแกรม 3 มิติ หรือการทำอัลตราซาวนด์ และพบว่ามีความผิดปกติของเต้านม แพทย์จะแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อเพื่อดูรายละเอียดของความผิดปกตินั้น ๆ ก่อนพิจารณาผ่าตัด หากมีข้อบ่งชี้ ได้แก่ 

  • ก้อนเนื้อมะเร็ง 
  • ก้อนเนื้อมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม 
  • เนื้องอกที่โตเร็ว (Phyllodes Tumor) หรือก้อนเนื้องอกปกติที่มีขนาดใหญ่ (Giant Fibroadenoma) 
  • กรณีที่ผลชิ้นเนื้อและผลตรวจ Ultrasound กับ Mammogram ไม่สอดคล้องกัน 

การผ่าตัด นับเป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านม ในปัจจุบันแบ่งการผ่าตัดรักษาเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การผ่าตัดสงวนเต้า และการผ่าตัดทั้งเต้าแต่จะมีการเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่ 

  • การผ่าตัดสงวนเต้า (Breast Conservative Surgery) คือการผ่าตัดก้อนเนื้อและบริเวณรอบ ๆ ที่เป็นเนื้อดีออก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีเซลล์มะเร็งแล้ว โดยคนไข้ต้องได้รับการฉายแสงเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ และป้องกันการกระจายของโรค โดยการผ่าตัดสงวนเต้าจะไม่แนะนำในกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้ 
  1. ผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะไม่สามารถฉายแสงได้ 
  2. กลุ่มที่มีหินปูนผิดปกติทั่วเต้านม 
  3. มีก้อนเนื้อหลายก้อน เพราะการผ่าตัดด้วยแผลเดียว อาจจะเอาก้อนออกไม่หมด 
  4. กลุ่มที่มีความผิดปกติของก้อน (บางชนิดเท่านั้น) 
  5. กลุ่มที่เคยฉายแสงมาที่เต้านมมาก่อน เมื่อต้องฉายแสงซ้ำอาจเกินโดสที่เคยฉายไปแล้ว 
  6. มีโรคทางผิวหนังบางชนิด
  • การผ่าตัดทั้งเต้า (Mastectomy) คือการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งหลังจากผ่าตัดเต้านมไปแล้ว ยังมีเทคนิคการเสริมสร้างเต้านมใหม่ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับคนไข้ ได้แก่ วิธีการย้ายเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นของร่างกายเพื่อสร้างเต้านมใหม่, การเสริมเต้านมด้วยซิลิโคน, การใช้ Tissue expander หรือยืดผิวหนังหน้าอกก่อนใส่ซิลิโคน, และการเสริมเต้านมด้วยการ เติมไขมัน เพิ่มขนาดหน้าอก  ทั้งนี้ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างละเอียดและร่วมวางแผนการดูแลรักษาร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว  

“ วิทยาการด้านการรักษาโรคทางเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากมีเทคนิคการรักษาใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น การเข้ารับการรักษากับศัลยแพทย์ที่มีความเฉพาะทางด้านเต้านมและมะเร็งเต้านม จะส่งผลต่อการวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ” แพทย์หญิงรับพรกล่าว