หลักหน้าที่ 13 ประการ กับการแบ่งสมบัติธุรกิจครอบครัว
"ความยุติธรรมของอียิปต์โบราณ ไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนเท่าเทียมกัน...แต่หมายถึงการที่คนทุกระดับอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ และเอื้ออาทรต่อกัน”
- The Tale of the Eloquent Peasant (แปลโดย ปรีดี บุญซื่อ)
บทความที่แล้วเราคุยกันว่า ทำไมพ่อ-แม่จึงไม่จำเป็นจะต้องแบ่งสมบัติให้ลูกๆ อย่าง “ยุติธรรม” ซึ่งผมเชื่อว่าทีม #แบ่งสมบัติต้องยุติธรรม อาจกำลังเถียงผมอยู่ในใจ หรืออาจอยากจะจัดเวทีมาดีเบตกันให้รู้แล้วรู้รอดกันไป
จริงๆ แล้วความยุติธรรมไม่ใช่ไม่ดี ผมเพียงแต่พยายามจะบอกว่าเราไม่ควรยกเอาความ “ยุติธรรม” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือกดดันซึ่งกันและกัน เพราะความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และความยุติธรรมก็ไม่จีรัง วันนี้แบบนี้ยุติธรรม พรุ่งนี้อาจมีคนบอกว่าไม่ยุติธรรมแล้วก็ได้
แต่ก็ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะแบ่งสมบัติอย่างไรก็ได้ตามใจฉัน เพราะการแบ่งสมบัตินั้นก็มีทั้งที่จบสวย และจบไม่สวย
แล้วจะแบ่งยังไงให้จบสวยล่ะ?
บทความนี้ผมจะมาแชร์ หลักหน้าที่ 13 ประการ ของสมาชิกครอบครัวที่ประยุกต์มาจากหลักคิดเรื่องความยุติธรรมของชาวอียิปต์โบราณที่เรียกว่า “มาต” และหลักคิดทางพุทธศาสนาในเรื่องมงคลชีวิต (สิ่งที่ทำแล้วเป็นมงคลแก่ชีวิต) ผมเชื่อว่าหลักหน้าที่ 13 ประการนี้ จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยคุณพ่อคุณแม่ตอบคำถามสำคัญที่ว่า “พ่อแม่จะแบ่งทรัพย์สินให้ลูกๆ อย่างไร?” ได้ไม่มากก็น้อย
“ยุติธรรม” ไม่ใช่เท่ากันหรือเสมอภาค แต่คือสภาวะตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง
“คนที่ได้น้อยมักเรียกร้องหาความยุติธรรม คนที่ได้มากมักจะนิ่งเฉย”
...นี่ไม่ใช่ข้อสรุป แต่คือข้อสังเกต
ความยุติธรรมที่คนอียิปต์โบราณเรียกว่า “มาต” เป็นแนวคิดที่มีความหมายกว้างขวางในหลายมิติ และมีความสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง ในความหมายกว้าง มาต หมายถึง ความเป็นระเบียบแบบแผน และความสมดุลของจักรวาล เช่น ฤดูที่เป็นไปตามปกติ การท่วมบ่าของแม่น้ำไนล์ตามฤดูกาล กลางวันเปลี่ยนเป็นกลางคืน เป็นต้น ในแง่นี้ มาต จึงคล้ายกับความคิดปรัชญาตะวันตกในเรื่องกฎเกณฑ์ธรรมชาติ (Natural Law) ในความหมายที่แคบลงมา โดยเฉพาะเมื่อมองไปยังสังคมมนุษย์ มาต เป็นความคิดที่กำหนดค่านิยมของสังคมว่า อะไรถูก อะไรผิด กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และการมองในสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง เป็นต้น
ในยุคสมัยของอียิปต์โบราณนั้น ยังไม่มีกฎหมาย หรือบทบัญญัติทางศาสนาที่จะบอกว่า อะไรคือการกระทำที่ถูกหรือผิด การแยกแยะสิ่งถูกกับสิ่งผิด ความจริงกับความเท็จจึงต้องอาศัยแนวคิด มาต เป็นหลัก ความยุติธรรมในมุมมองของ มาต จึงไม่จำเป็นว่าต้องเท่ากัน หรือเสมอภาคกัน แต่คือสภาวะตามธรรมชาติ คือความคิดที่กำหนดค่านิยมของสังคมนั้นๆ
คุยกันเรื่อง “หน้าที่” ก่อนจะคุยเรื่องสมบัติ
ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม เมื่อเราโฟกัสลงมาที่หน่วยย่อยที่สุดคือ “ครอบครัว” นั้น สมาชิกทุกคนล้วนมี สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่อง “หน้าที่”
การทำหน้าที่ของแต่ละคนให้สมบูรณ์นั้น ถือเป็นพื้นฐานของสังคมที่สงบสุข สังคมที่ผู้คนต่างไม่รู้จักหน้าที่ของตน หรือรู้แต่ไม่ทำนั้น เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหาและความขัดแย้ง ดังนั้น เมื่อพูดถึงคำวิเศษ 3 คำนี้ ได้แก่ สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ ผมชอบที่จะเริ่มพูดคุยในเรื่องของ “หน้าที่” ก่อนสิ่งอื่นใด เพราะเป็นการเซ็ต Mindset ให้ทุกคนรู้ว่า ก่อนที่คุณจะได้อะไร คุณต้องทำอะไรมาก่อน ไม่ใช่แค่เกิดเป็นลูกแล้วจะต้องได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อันนี้ก็ง่ายไป เป็น Mindset ที่อันตราย พ่อ-แม่ก็มีหน้าที่เช่นกัน ดังสะท้อนผ่านหลักคิดทางพุทธศาสนาที่ว่าด้วยมงคล 38 ประการได้ระบุหน้าที่ของพ่อ-แม่ รวมถึงหน้าที่ของลูกไว้อย่างชัดเจน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ความเป็นพ่อเป็นแม่คนทำให้เกิดหน้าที่ ความเป็นลูกก็ทำให้เกิดหน้าที่เช่นกัน และในฐานะที่ทั้ง พ่อ แม่ ลูก ต่างก็มีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็น “ผู้นำ” ไม่ว่าจะเป็นผู้นำครอบครัว หรือผู้นำองค์กรธุรกิจที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งก็ทำให้พวกเขามีหน้าที่ๆ ต้องทำ หลักการก็คือ ให้สมาชิกทุกคนมาพูดคุยเรื่องหน้าที่ของแต่ละคนในบทบาทต่างๆ ก่อน แล้วจึงค่อยมาคุยเรื่องแบ่งสมบัติ
บทบาทต่างๆ ประกอบไปด้วยบทบาท (1) พ่อ-แม่ (2) ลูก (3) ผู้นำ ซึ่งแต่ละบทบาทก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้
หน้าที่ 5 ของพ่อ-แม่ : พ่อ-แม่มีหน้าที่สงเคราะห์บุตร
“มงคลชีวิต 38 ประการ” ซึ่งเป็นแนวคิดตามหลักพุทธศาสนา “มงคล” คือเหตุแห่งความสุข ความก้าวหน้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้พึงปฏิบัติ เป็นคุณธรรมที่จะทำให้ชีวิตประสบความเจริญมี 38 ประการ มงคลในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรนั้นอยู่ใน มงคลที่ 12 ว่าด้วยการสงเคราะห์บุตร ซึ่งได้จำแนกประเภทของบุตรออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) อภิชาติบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเหนือกว่าบิดา มารดา (2) อนุชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถเสมอบิดา มารดา และ (3) อวชาตบุตร คือบุตรที่มีความดี คุณธรรม และความสามารถต่ำกว่าบิดา มารดา
พ่อ-แม่นั้น มีหน้าที่ต่อลูก คือ
(1) ห้ามไม่ให้ทำความชั่ว
(2) ปลูกฝัง สนับสนุนให้ทำความดี
(3) ให้การศึกษา-ความรู้
(4) ให้ได้คู่ครองที่ดี (ใช้ประสบการณ์ให้คำปรึกษาแก่ลูก ช่วยดูให้)
(5) มอบทรัพย์ให้ในโอกาสอันควร (พินัยกรรม ก็ถือว่าเป็นสิ่งถูกต้อง)
ดังนั้น จะเห็นว่าการมอบทรัพย์ให้แก่ลูกๆ ถือเป็นหน้าที่ของพ่อ-แม่ เป็นสิ่งที่ทำแล้วจะเกิดความก้าวหน้า ชีวิตจะประสบความเจริญ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการให้ว่าต้องให้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้มีระบุไว้แต่อย่างใด
หน้าที่ 5 ของบุตร : บุตรมีหน้าที่บำรุงบิดามารดา
ผู้เป็นลูกก็มีหน้าที่ต่อพ่อ-แม่เช่นกัน มงคลที่ 11 คือ การบำรุงบิดามารดา พ่อแม่นั้นเปรียบได้เป็นทั้ง ครูของลูก เทวดาของลูก พรหมของลูก และอรหันต์ของลูก ความหมายโดยละเอียด คือ ที่ว่าเป็นครูของลูก เพราะว่าท่านได้คอยอบรมสั่งสอนลูกเป็นคนแรกก่อนคนอื่นใดในโลก ที่ว่าเป็นเทวดาของลูก เพราะว่าท่านคอยปกป้อง คุ้มครอง เลี้ยงดู ประคบประหงมมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก บำรุงให้เติบใหญ่เป็นอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกในทุกด้าน
ที่ว่าเป็นพรหมของลูก เพราะว่าท่านมีพรหมวิหาร 4 นั่นก็คือ มีเมตตา หมายถึงความเอ็นดู ความปรารถนาดีต่อลูกในทุกๆ ด้าน ไม่มีที่สิ้นสุด มีกรุณา หมายถึงให้ความกรุณาต่อลูก ลูกอยากได้อะไรก็หามาให้ลูก ให้การศึกษาเล่าเรียน ส่งเสียเท่าที่มีความสามารถจะให้ได้ มีมุทิตา หมายถึง ความรักที่ยอมสละได้แม้ชีวิตของตัวเองเพื่อลูก ยอมเสียสละได้ทุกอย่าง และมีอุเบกขา หมายถึงการวางเฉย ไม่ถือโกรธเมื่อลูกประมาท ซน ทำผิดพลาดเพราะความไร้เดียงสา หรือเพราะความไม่รู้
และที่ว่าเป็นอรหันต์ของลูก เพราะว่าท่านมีคุณธรรม 4 ประการ อันได้แก่ 1. เป็นผู้มีอุปการ คุณต่อลูก คืออุปการะเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ 2. เป็นผู้มีพระเดชพระคุณต่อลูก คือ ให้ความอบอุ่นเลี้ยงดู ปกป้องจากภยันตรายต่างๆ นานา 3. เป็นเนื้อนาบุญของลูก คือ ลูกเป็นส่วนหนึ่งของกรรมดีที่พ่อแม่ได้ทำไว้ และเป็นผู้รับผลบุญที่พ่อแม่ได้สร้างไว้แล้ว และ 4. เป็นอาหุไนยบุคคล คือ เป็นเหมือนพระที่ควรแก่การเคารพนับถือ เทอดทูนไว้เป็นแบบอย่าง
ซึ่งการทดแทนพระคุณบิดามารดา บุตรสามารถทำได้ดังนี้
(1) เลี้ยงดูบุพการีเป็นการตอบแทน
(2) ช่วยเหลือเป็นธุระเรื่องการงาน
(3) ดำรงวงศ์ตระกูลให้สืบไปไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย
(4) ประพฤติตนให้ควรแก่การสืบทอดมรดก
(5) ครั้นเมื่อบุพการีล่วงลับ ก็ทำบุญอุทิศกุศลให้
หน้าที่ 3 ของผู้นำ : ผู้นำมีหน้าที่สร้างความสมานฉันท์
พ่อและแม่คือผู้นำตามธรรมชาติของครอบครัว ในขณะที่ลูกๆ คือผู้นำแห่งอนาคตของครอบครัว พวกเขาต่างมีภาระหน้าที่ของผู้นำ ซึ่งตามแนวคิดของอียิปต์โบราณอาจสรุปโดยคร่าวได้ว่า “ผู้นำ” มีหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการ ดังต่อไปนี้
(1) ปกป้องคนที่อ่อนแอ-คนยากจน ตกทุกข์ได้ยาก
(2) ทำให้คนทุกระดับอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สมานฉันท์
(3) มีมนุษยธรรม เอื้ออาทรต่อกันและกัน
ทั้ง 3 ประการคือภาระหน้าที่ของ “ผู้นำ” พ่อ แม่ และลูกๆ ต่างมีหน้าที่ๆ จะต้องช่วยกันปกป้องดูแลสมาชิกที่อ่อนแอ อยู่ในสถานะที่ลำบาก เช่น ยากจน พิการ เป็นโรคร้าย ประสบเคราะห์กรรม ผิดพลาดในชีวิต ฯลฯ เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ โดยมีความเอื้ออาทรต่อกันและกันเป็นตัวประสานความแตกต่าง ความคับข้องหมองใจ และความขัดแย้งที่ผ่านมา ฯลฯ
ถ้าพ่อ-แม่ไม่บกพร่องในหน้าที่ของการเป็นบุพการี ลูกไม่บกพร่องในหน้าที่ของบุตร และพ่อ-แม่-ลูก ไม่บกพร่องในหน้าที่ของผู้นำแล้ว การพูดคุยในเรื่องการแบ่งสมบัติก็จะง่ายขึ้น ไม่มีใครควรที่จะต้องถือว่าเรื่องการแบ่งสมบัติเป็นสาระสำคัญ (แม้ว่าจะสำคัญก็ตาม!) ทุกคนต่างเข้าใจถึงหน้าที่ๆ จะต้องช่วยกันทำให้ครอบครัวนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสมานฉันท์ เมื่อทุกคนได้ทำหน้าที่ของตนเองดีแล้ว การแบ่งสมบัติจะเป็นแค่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามครรลองที่ควรจะเป็นเท่านั้นเอง เป็นกระบวนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น และน่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว
เมื่อ “หน้าที่บกพร่อง” จะทำยังไง?
มนุษย์ย่อมมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา พ่อ-แม่ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของพ่อ-แม่อย่างสมบูรณ์ หรือลูกที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของลูกที่ดี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ หลายคนเสียใจ เก็บมันไว้ หลายคนรู้สึกต้องการที่จะ “ชดใช้” ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่พ่อ-แม่หลายคนอยากจะ “ยุติธรรม” กับลูกให้มากขึ้น (เพื่อชดเชยกับความบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีต) หรือลูกๆ ที่รู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมในอดีต ก็อยากที่จะได้รับการชดใช้จากพ่อ-แม่ในยามที่พวกเขาโตขึ้น
ซึ่งในมุมมองของผม สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี ความปากกัดตีถีบ ความเครียด การตัดสินใจที่ผิดพลาด หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ไม่มีใครสามารถย้อนกลับไปในอดีตแล้ว “ตัดสินใจใหม่” หรือ “ทำอีกอย่าง” ได้ สิ่งที่ทำได้ก็เพียงเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งที่ดีและไม่ดี ให้เป็นบทเรียนแล้วก้าวต่อไป
ดังนั้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่ หรือทายาท รู้สึกว่าตนเองบกพร่องกับหน้าที่ทั้ง 10 ประการ (หน้าที่พ่อแม่ 5 และหน้าที่ลูก 5 ข้างต้น) ผมไม่ขอให้ใครต้องมาชดใช้กับการกระทำที่ผิดพลาด ที่ผ่านไปแล้ว เพียงขอให้เก็บไว้เป็นบทเรียน ให้อภัยตนเอง และให้อภัยคนอื่นที่ทำให้เราเสียใจด้วย ครอบครัวยังอาจกลับมาสู่เส้นทางของสันติสุขได้ผ่านการปฏิบัติหน้าที่ 3 ข้อที่เหลือให้ดีที่สุด นั่นคือพ่อ-แม่-ลูกทำ “หน้าที่ของผู้นำ” ให้ดีที่สุด คือ เอื้ออาทรต่อกันและกัน มุ่งสมานฉันท์ และปกป้องคนที่อ่อนแอ แค่นั้นก็ดีที่สุดแล้ว
References
• “มงคล 38 ประการ”, www.nectec.or.th เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2564
• ปรีดี บุญซื่อ (แปลเรียบเรียง), “นิทาน ชาวนาผู้มีวาทศิลป์: วาทกรรมว่าด้วยความยุติธรรม”, พิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ ทับหนังสือ, ส.ค. 2562