จัดพอร์ตกองทุนครึ่งปีหลัง บลจ.มองบวกหุ้น มากกว่าตราสารหนี้
บลจ.เผยกลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลัง บลจ.ยูโอบี ชู 3 ธีม ลดน้ำหนักตลาดหุ้นยุโรป หุ้นเติบโต และหุ้นเทคโนโลยี แนะ Real Assets ต้องมีติดพอร์ต บลจ.กสิกรไทย ให้น้ำหนักหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ บลจ.กรุงไทย ชอบหุ้นจีน หลังความเสี่ยงลดลงมาก ภาพรวมการส่งออกดีขึ้น ประกอบกับการกระตุ้นใช้จ่ายภาครัฐช่วยปลุกเศรษฐกิจ
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า
ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 2565 ปัจจัยที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบ ได้แก่
แรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
และนโยบายทางการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ส่งผลให้สภาพคล่องโลกตึงตัวมากกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นหุ้นยังสามารถลงทุนได้
โดยพื้นฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
สำหรับเรื่องเงินเฟ้อที่เข้ามากระทบ จะส่งผลลบต่อการลงทุนในหุ้น อาทิ
กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการแพทย์ สินค้าฟุ่มเฟื่อย
ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนการลงทุนในระยะกลางได้
อีกทั้งนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของหุ้นและตราสารหนี้
โดยในส่วนของหุ้นหากต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้น
นักลงทุนจะต้องเผชิญกับความเสี่ยง ดังนั้น อาจใช้วิธีการถือหุ้นน้อยลง
ด้านตราสารหนี้ปัจจุบันอัตราผลตอบแทน (Yield) ปรับขึ้น
นักลงทุนจึงไม่กล้าถือตราสารหนี้มากนัก เนื่องจากราคาที่ปรับตัวลง แต่ในช่วง 1-2
เดือนหลังจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วนั้น
อาจจะได้เห็นผลตอบแทนที่ดีขึ้น
สำหรับความไม่แน่นอนระหว่างประเทศที่กระทบในระยะยาวนั้น
ดร.จิติพลมองว่า การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น อาทิ สหรัฐฯกับจีน
ที่ยังคงมองว่าเป็นคู่แข่งกันอยู่เสมอ และเป็นคู่แข่งที่มีความคิดเห็นต่างกัน
ดังนั้น ความขัดแย้งทางแนวความคิดจะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต
อีกทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นนั้น
ความขัดแย้งดังกล่าวอาจจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน
ด้านสินทรัพย์ทางเลือก ดร.จิติพล มองว่า
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้นกว่าเดิมและยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โดยเริ่มเห็นได้จากสินทรัพย์ในรูปแบบดิจิทัลที่ซื้อขายอยู่ในท้องตลาด
อีกทั้งในอนาคตคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าในอนาคตอีก 10
ปีข้างหน้า จะมีเกิดการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ที่ต่างออกไปจากปัจจุบัน
บลจ.ยูโอบี แนะนำลงทุน 3
ธีม
Real Assets ต้องมีติดพอร์ต
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี
แนะนำ 3 ธีม ได้แก่ ธีมปฏิวัติอุตสาหกรรม
มีการใช้หุ่นยนต์เพิ่มกำลังการผลิต นำเทคโนโลยีมาแทนที่ ธีมเทคโนโลยีทางการเงิน
(ฟินเทค) ที่ทำให้การบริการเข้าถึงประชาชนง่ายมากขึ้น หุ้นกลุ่มการเงิน
ธุรกิจไฟแนนซ์ดั้งเดิมจะเห็นการเปลี่ยนแปลงประยุกต์ใช้บล็อกเชนเข้ามาทำตลาด และธีม
Turnaround อย่างการใช้อินเทอร์เน็ตทำธุรกิจ เช่น
อี-คอมเมิร์ซจากปีนี้ที่ถูกควบคุมน่าจะสามารถกลับมาได้ เชื่อว่าปี 2566
เป็นปีที่จีนเห็นความชัดเจนด้านนโยบาย
นอกจากนี้
แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในธีมปฏิวัติอุตสาหกรรม การเงินไร้ตัวตน
การป้องกันไซเบอร์ และจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real
Assets) เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ ประเภททองคำ โลหะ
น้ำมันดิบ สินค้าโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ประเภทลักซ์ชัวรี่
เช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนม เป็นต้น รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร
สินทรัพย์เหล่านี้ถือเป็นสินทรัพย์ทางเลือก แนะนำให้จัดสรรเงินลงทุน 10%
สำหรับการลงทุนในหุ้น
แนะนำสะสมหุ้นตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชีย หุ้นขนาดใหญ่ หุ้นคุณค่า
และให้น้ำหนักลงทุนเท่ากับตลาดในหุ้นสหรัฐฯ หุ้นขนาดเล็ก และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์
ขณะที่แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป หุ้นเติบโต และหุ้นเทคโนโลยี
การลงทุนในตราสารหนี้
หากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยควรจะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน
3 ปี เนื่องจากภายในช่วง 3
ปีนี้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นกู้จะรีไฟแนนซ์และอาจให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น
แต่หากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง อาจจะลงทุนในระยะยาว
หรือย้ายเงินลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ บ้าง เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) กองทุนรวมผสม
ซึ่งอาจจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว 5-10 ปี
บลจ.กสิกรไทย แนะครึ่งปีหลัง
เน้นกองหุ้นมากกว่าตราสารหนี้
นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ
สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า
จากรายงานเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง
ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นและทองคำ เผชิญแรงเทขายอย่างรุนแรง
ส่วนตราสารหนี้และน้ำมันปรับตัวขึ้นมาในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี
ในระยะยาวยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อกองทุนหุ้น มากกว่ากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging
Market) นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรกระจายการลงทุนบางส่วนไปยังกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง
กองทุนน้ำมัน และกองทุนทองคำ ในสัดส่วนไม่เกิน 5-10%
ของพอร์ต
กลยุทธ์จัดพอร์ตในแต่ละสินทรัพย์
เงินสด - Negative เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง
ส่งผลให้การถือครองเงินสดมีมูลค่าที่แท้จริงลดลง แม้ในช่วงสั้น Geopolitical
Tensions จะทำให้เงินสดเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
หุ้น - Slightly Positive แม้สินทรัพย์เสี่ยงจะปรับลงจากความกังวลต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด
จากการปรับนโยบายการเงินของประเทศแกนหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนช่วงสั้น
แต่การที่เศรษฐกิจยังคงเติบโตต่อได้ และอดีตที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจะกลับมาฟื้นตัวได้ 2-4
ไตรมาส ดังนั้น กลยุทธ์ จึงต้องเลือก (Selective) ในหุ้นประเทศที่มีการเติบโตสูงกว่าตลาดโลกโดยรวมจากการฟื้นตัวของโควิด-19
เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
รีท - Slightly Negative แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกดดัน
Valuation ของสินทรัพย์ประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม
ในเชิงปัจจจัยพื้นฐาน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะนำไปสู่การปรับค่าเช่าและมีส่วนลด
จึงเป็น Selective ในภูมิภาคเอเชียที่มีการฟื้นตัวที่ดีกว่าในปี 2565
นี้
น้ำมัน - Neutral ในระยะสั้น
ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงเกิน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
จากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม
การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน จะนำไปสู่การเพิ่มกำลังการผลิต (อุปทาน)
จากอิหร่าน ในที่สุดจะทำให้ตลาดพลิกจากขาดตลาดเป็นกำลังผลิตส่วนเกิน 500,000-1,000,000
บาร์เรลต่อวัน และจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันจากระดับนี้ได้
และน่าจะกลับไปสู่ราคาตามปัจจัยอุปสงค์ (ความต้องการใช้น้ำมัน)และอุปทาน ที่ประมาณ
70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตราสารหนี้ - Slightly Negative
Duration/Government การปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักทั่วโลกสู่ระดับสมดุล
ส่งผลให้แนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยลบโดยตรงต่อตราสารหนี้ที่มีอายุยาว Corporate
Credit ทั้งนี้ Credit Spread ของกลุ่มตราสารหนี้เอกชนได้มีการปรับตัวลดลงจนอยู่จุดระดับต่ำสุดในรอบหลายปี
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่ได้จากการถือครองตราสารหนี้เอกชนยังมากกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ
ทองคำ - Neutral ในระยะสั้นคาดว่าราคาทองคำจะซื้อขายอยู่ในกรอบระหว่าง
1,820-1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์
เนื่องจากความกังวลเรื่องภูมิรัฐศาสตร์
และเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นได้สนับสนุนราคาทองคำ อย่างไรก็ดี
ในขณะที่ระยะกลางการทยอยปรับลดผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก
นำไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น และกดดันราคาทองคำ
กลยุทธ์การลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ
หุ้นญี่ปุ่น - Slightly Positives อัตราการเติบโตน่าจะกลับมาเร่งตัวได้ตามประเทศพัฒนาแล้ว
หลังการฟื้นตัวของภาคการผลิตและบริการ จึงคาดว่าตลาดหุ้นยังคงมีปัจจัยบวกจากคาดการณ์กำไรที่ปรับขึ้น
ประกอบกับทิศทางนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่ยังคงผ่อนคลายเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ
น่าจะสนับสนุนค่าเงินเยนให้อ่อนค่า และเป็นผลดีกับหุ้นญี่ปุ่น นอกจากนี้ Valuation
ตลาดหุ้นที่ยังต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ
หุ้นสหรัฐฯ - Neutral ปัจจัยการปรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ
(FOMC) เพื่อป้องปรามเงินเฟ้อที่สูงน่าจะยังกดดันการลงทุน
ความเสี่ยงหลักคือ สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน
นำไปสู่เงินเฟ้อที่ทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง และทำให้นโยบายการเงินตึงตัวกว่าคาดได้อีก
หุ้นไทย - Slightly Positive การฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ
หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง
ประกอบกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว จะสนับสนุนการเติบโต
โดยเฉพาะการบริโภคและใช้จ่ายในประเทศในปี 2565
และคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ดีขึ้น กลยุทธ์การลงทุนยังคงเป็น Selective
ในหุ้นรายตัวที่เน้นกำลังซื้อในประเทศ
และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศ
บลจ.กรุงไทย แนะลงทุนจีน รับเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ
บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า
จากสภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
กลายเป็นความท้าทายของนักลงทุนในการจัดสรรการลงทุนอย่างเหมาะสม ในส่วนของ KTAM
ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบันนั้น
จีนนับเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
ทั้งการส่งออกที่ฟื้นตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ระดับเงินเฟ้อต่ำ
และศักยภาพของการเป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบที่สำคัญของโลก
ทั้งนี้ จีนยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอีกมาก
ทั้งการส่งออกที่ฟื้นตัวแรงกว่าที่คาด นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์
และด้วยอัตราเงินเฟ้อของจีนที่ต่ำสุดในโลกเพียง 2.1%
ทำให้จีนสามารถขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก
นอกจากนี้
ศักยภาพของการเป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบที่สำคัญของโลก และการคลายล็อกท่าเรือ
จะเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าจากจีนไปสู่ตลาดโลก ขณะที่ดัชนี MSCI ลงทุนหุ้นจีนเพียง
3.5% ของพอร์ตเท่านั้น
ซึ่งสะท้อนถึงการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองข้าม ช่วงนี้จึงนับว่าเป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการลงทุนหุ้น
ตราสารหนี้ และเงินหยวนของจีน
สำหรับการลงทุนในตลาดจีน KTAM มีกองทุนที่น่าสนใจ
3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า เอแชร์
อิควิตี้ ฟันด์ (KT-Ashares), กองทุนเปิดเคแทม ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์
(KT-CHINA) และกองทุนเปิดเคแทม ไชน่า บอนด์ ฟันด์ (KT-CHINABOND)
หลักทรัพย์บัวหลวง
แนะ “กองทุนรวมผสม”
นายเสริมศักดิ์ วงศ์สิทธิโชค ผู้อำนวยการอาวุโส
ฝ่ายค้าตราสารการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
ในช่วงนี้มีหลายปัจจัยความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการลงทุนในกองทุนรวม เช่น สงครามรัสเซียยูเครนที่กินเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์
ทำให้เกิดวิกฤติพลังงาน และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
หนุนให้เงินเฟ้อพุ่งทั่วโลก
ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว
จึงแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์ โดยสัดส่วนลงทุนหลัก 90%
ให้เน้นไปใน “กองทุนรวมผสม” ที่มีนโยบายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์
เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดความผันผวนของพอร์ต
ส่วนที่เหลือให้ลงทุนในกองทุนที่อาจได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อพุ่งหรือราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในสัดส่วน
10%
สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำแนะนำให้ลงทุนในกองทุนผสมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน
25% ของพอร์ต
ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางแนะนำกองทุนผสมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 50%
ของพอร์ต
และให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนล้อตามเงินเฟ้อ
และผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงแนะนำกองทุนผสมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ไม่เกิน 75%
ของพอร์ต
และให้เพิ่มการลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มพลังงานเพราะราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง