WEALTH • PERSONAL FINANCE

อัปเดตสิทธิลดหย่อนปี 65 เทคนิควางแผนภาษีให้คุ้มค่า

บุคคลที่มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือวัยเกษียณจำเป็นต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปี ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละคน ยิ่งมีรายได้มากก็ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามไปด้วย



ดังนั้น การวางแผนภาษีเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถยื่นเสียภาษีได้อย่างถูกต้องและใช้สิทธิลดหย่อนได้ครบถ้วน โดยการเงินธนาคารได้ Update สิทธิลดหย่อนภาษีปี 2565 และรวบรวมเทคนิคการเสียภาษีอย่างถูกต้องสำหรับคนโสด อาชีพอิสระ และวัยเกษียณ สำหรับการวางแผนประหยัดภาษีช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี

 

เทคนิคเสียภาษีสำหรับคนโสด

คนโสดจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 4 รายการ ดังนี้ (1) ค่าลดหย่อนคู่สมรส (2) ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร (3) ค่าลดหย่อนบุตร (4) ค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป

โดยจะสามารถหักลดหย่อนส่วนตัว หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา เบี้ยประกัน เงินลงทุนระยะยาว ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ เงินบริจาค และสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ

โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนภาษีแล้วจะได้เงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณภาษีตามอัตราภาษีแบบก้าวหน้าดังนี้


               

เทคนิคเสียภาษีสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระควรทราบคือประเภทรายได้ที่ตนเองได้รับ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระจะต้องหักค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีอย่างไร โดยมีรายละเอียด ดังนี้


โดยผู้ประกอบการอาชีพอิสระต้องรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงใบกำกับภาษีจากงานที่ทำเอง ซึ่งแตกต่างจากพนักงานบริษัทที่มีบริษัทคำนวณรายได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ให้ ทั้งนี้ รายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้วยังต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ

เมื่อคำนวณรายได้สุทธิและได้ฐานภาษีแล้วก็พอทราบแล้วว่ามีจำนวนเงินภาษีที่ต้องนำจ่ายเท่าไหร่ หากยังมียอดที่ต้องจ่ายภาษีสูงอยู่ ก็ต้องหาวิธีเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้

ลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิต ยังคงเป็นวิธียอดฮิตที่ทั้งพนักงานบริษัทหรือฟรีแลนซ์มักเลือกใช้สำหรับใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพราะได้ประกันความเสี่ยงไปด้วย ได้ออมเงินด้วย และยังได้ลดหย่อนภาษีไปด้วย

ลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุนใน LTF หรือ RMF ผลประโยชน์ของการลงทุนใน LTF และ RMF นอกจากจะช่วยเรื่องออมเงิน และลดหย่อนภาษีได้แล้ว เมื่อขายหน่วยลงทุนคืนยังไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

ผู้ประกอบการอาชีพอิสระควรวางแผนเรื่องภาษีอย่างดีและรอบคอบ เพราะหากวางแผนภาษีอาจจะมีผลต่อการเรียกจ่ายภาษีย้อนหลังได้

 

เทคนิคเสียภาษีสำหรับวัยเกษียณ

สำหรับผู้เกษียณอายุ จะมีประเด็นภาษีที่เกี่ยวกับเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเช่นเดียวกับคนวัยทำงาน อย่างไรก็ดี ผู้เกษียณอายุมักจะได้รับเงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งหากผู้เกษียณอายุได้รับเงินดังกล่าวเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนครบ 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้รับดังกล่าวทั้งจำนวน

ทั้งนี้ ภายหลังเกษียณอายุแล้ว รายได้ที่ผู้เกษียณอายุจะได้รับส่วนใหญ่จะเกิดจากรายได้ 2 ประเภทได้แก่ รายได้จากการลงทุน และรายได้อื่นซึ่งเป็นประโยชน์จากการทำงานหรือสวัสดิการภาครัฐซึ่งมีประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.1 รายได้จากการลงทุน

         (1) ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วไม่เกิน 30,000 บาท โดยได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเมื่อมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

         (2) ดอกเบี้ยประเภทอื่น (เช่น หุ้นกู้ เงินฝากประเภทอื่น) เงินปันผลจากหุ้น หรือกองทุนรวมต่างๆ โดยสามารถเลือกไม่นำมารวมคำนวณภาษีอีกหรือยอมให้หักภาษีไว้ตอนจ่าย ซึ่งหากเป็นดอกเบี้ยจะถูกหักไว้ 15% และหากเป็นเงินปันผลจะถูกหักไว้ 10%

         (3) เงินตอบแทนคืนจากประกันชีวิตแบบบำนาญ สำหรับผู้ที่ทำประกันชีวิตแบบบำนาญเมื่อได้รับเงินจ่ายคืนจากประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินได้ส่วนนี้จะได้รับยกเว้นภาษี

         (4) กำไรจากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหรือหุ้นหากเป็นการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั่วไป หรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรจากการขาย (Capital Gain) อย่างไรก็ดี กรณีเป็นการขายหน่วยลงทุน RMF จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น ส่วนการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีจาก Capital Gain


1.2  รายได้อื่นซึ่งเป็นประโยชน์จากการทำงานหรือสวัสดิการภาครัฐ

         (1) เงินบำนาญต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยกรมบัญชีกลางจะคำนวณและหักภาษีไว้ทุกเดือน (หากเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี) โดยสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระซึ่งหากชำระไว้เกิน ก็สามารถแจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษีได้

         (2) บำเหน็จหรือบำนาญชราภาพประกันสังคม และบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทั้งจำนวนหากเป็นไปตามเงื่อนไข

         (3) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ได้รับยกเว้นภาษี

         (4) เงินได้อื่นจากการทำงาน หากมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 (เช่น เงินเดือน โบนัส) เกินกว่า 120,000 บาทต่อปี หรือหากมีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นเกินกว่า 60,000 บาทต่อปี ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ดี ถ้ามีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นเงินได้พึงประเมินจำนวน 190,000 บาทแรก

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ขอคืนได้

นายจ้าง มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้หรือเงินเดือนที่จ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งโดยปกติจะคาดการณ์ภาษีเงินได้ที่พนักงานต้องจ่ายให้สรรพกรโดยคำนวณจากข้อมูลเท่าที่รู้ ได้แก่ (1) รายได้ เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าจ้างต่างๆ ที่บริษัทจ่ายให้แก่พนักงาน และ (2) ค่าลดหย่อน เช่น ลดหย่อนส่วนตัว เงินสมทบประกันสังคม และเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เท่านั้น

โดยภาษีที่คำนวณและหักไป กับภาษีที่พนักงานแต่ละคนต้องจ่ายให้สรรพากรอาจตรงหรือไม่ตรงกันก็ได้ และพนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของทุกปีไม่ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเท่าไรก็ตาม

ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับคนที่ไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อนอื่น เช่น คนโสด ไม่มีการผ่อนบ้าน ไม่มีการซื้อประกัน กองทุน SSF กองทุน RMF ภาษีที่หักไว้รวมทั้งปีมักเท่ากับภาษีที่คำนวณได้ตอนที่ยื่นกับสรรพากร ทำให้คนวัยเริ่มต้นทำงานช่วงแรกๆ มักไม่มีการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอภาษีคืน

ดังนั้น จึงเป็นความเคยชินหรือเข้าใจผิดว่า เมื่อนายจ้างหักภาษีเงินได้ส่งสรรพากรไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนภาษีอีก ทั้งที่ในความเป็นจริงสำหรับคนที่มีค่าลดหย่อนอื่นอยู่ หรือมีการวางแผนภาษี จะสามารถขอคืนภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนที่ถูกหักไปได้ส่วนจะขอคืนภาษีได้เท่าไรก็ขึ้นกับรายได้หรือฐานภาษีแต่ละคน

ดังนั้น ยิ่งใครมีค่าลดหย่อนเยอะก็สามารถขอคืนภาษีได้มากขึ้น โดยนำค่าลดหย่อนที่มีไปกรอกพร้อมกับรายได้ที่ได้รับทั้งปีตอนยื่นภาษีในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายสรรพากร และเปรียบเทียบกับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป ว่ามีจำนวนเงินภาษีที่ถูกหักเกินไปเท่าไร เพื่อทำการขอคืนจากสรรพากรได้